ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ๔ มิถุนายน ๒๕๖๒

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  22 ก.ค. 2563
หมายเลข  32116
อ่าน  2,661

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคารที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาจารย์จริยา เจียมวิจิตร กรรมการกฤษฎีกา อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจาก พลโท ขจรฤทธิ์ นิลกำแหง ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อไปสนทนาธรรมในหัวข้อพระพุทธศาสนาเถรวาท รัฐธรรมนูญ และ การสืบสานพระธรรมวินัย กับ นักศึกษา วปอ. รุ่นที่ ๖๑ นักศึกษาหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง รุ่นที่ ๑๑๙ และนักศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหาร รุ่นที่ ๖๐ ณ หอประชุมพิบูลสงคราม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๒.๐๐ น.

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ ขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่จัดการศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกันราชอาณาจักร ให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พนักงานองค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน โดยฝึกปฏิบัติการวางแผนและนโยบายระดับชาติ การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ (ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

การเดินทางมาสนทนาธรรมที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรของท่านอาจารย์และคณะฯ ในครั้งนี้ มีสิ่งที่ควรจะได้บันทึกไว้ประการหนึ่งคือ เป็นการเดินทางมาสนทนาธรรมครั้งแรก หลังจากที่ท่านอาจารย์เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หลังการเดินทางกลับจากการไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียเมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ทั้งนี้ หลังจากการสนทนาเสร็จสิ้นลง ท่านอาจารย์ก็เดินทางกลับเข้าพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเช่นเดิม

ข้าพเจ้าทราบด้วยความซาบซึ้งใจอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์เมตตาและเห็นประโยชน์ว่า การเดินทางมาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ แก่นักศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันป้องกันประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พนักงานองค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน ในครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการที่จะดำรงรักษาพระธรรมวินัย และการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความมั่นคงของประเทศชาติ แม้ว่าท่านอาจารย์ยังคงอยู่ในระหว่างการพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และไม่สามารถเดินเหินได้อย่างสะดวกเช่นเคยนักก็ตาม แต่ท่านก็แสดงให้เห็นถึงความเพียรและความอดทนอย่างยิ่ง ที่จะเดินขึ้นบนเวทีในหอประชุมพิบูลสงคราม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในวันนั้น ด้วยตัวของท่านเอง โดยไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ ให้ใครๆ ได้เห็นเลย ยังความปีติซาบซึ้งยิ่งแก่ผู้ใกล้ชิด ที่ได้เห็นในเมตตาและความอดทนอันไม่เป็นประมาณของท่านในครั้งนี้ เพื่อประโยชน์อันยิ่งสิ่งเดียว คือ ความเข้าใจธรรมะของทุกๆ คน ตราบเท่าที่ท่านยังสามารถกระทำการเกื้อกูลได้ ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณของท่าน ต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่งพระองค์นั้น โดยการกล่าว แสดง ความจริง จากการที่ท่านได้ศึกษาและเข้าใจ ในคำ ที่ได้ทรงแสดงไว้จากการตรัสรู้ ให้ผู้อื่นได้เข้าใจด้วย นี่จึงจะเป็นการดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ที่ถูกต้องแท้จริง

ผศ.อรรณพ กราบเรียนท่านผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ท่านนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ ๖๑ ท่านนักศึกษาหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง รุ่นที่ ๑๑๙ และท่านนักศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหาร รุ่นที่ ๖๐ ทุกท่านครับ

ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และการดำรงอยู่ของราชอาณาจักร เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคน มีความตระหนัก และปรารถนาอย่างยิ่ง แต่อะไร ที่จะนำมา ซึ่งความมั่นคงนั้น อย่างแท้จริง และยั่งยืน

วันนี้ ท่านอาจารย์สุจินต์และพวกเราทุกคนจึงจะมาสนทนาเพื่อความเข้าใจ พระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งก็เป็นบุญอยู่ไม่น้อยสำหรับประเทศชาติ ที่ทางภาครัฐได้มีการระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันไว้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือกัน เป็นพระพุทธศาสนาเถรวาท แต่ "เถรวาท" คืออย่างไร? นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และ พระพุทธศาสนาเถรวาท จะมีความสำคัญ และมีคุณค่าต่อจิตใจของแต่ละบุคคล ต่อความมั่นคงของชาติ และการป้องกันราชอาณาจักรอย่างไร และเรา เมื่อเห็นประโยชน์แล้ว จะร่วมกันดำรง สืบสาน พระพุทธศาสนาเถรวาท กันอย่างไร

ดังนั้น ในช่วงเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงจากนี้ไป จึงเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่จะได้สนทนาเพื่อความเข้าใจ ในเรื่อง พระพุทธศาสนาเถรวาท รัฐธรรมนูญ และ การสืบสานพระธรรมวินัยกันต่อไป ซึ่งในวันนี้ ขอกราบเรียนว่า จะไม่ใช่การบรรยาย แต่จะเป็นการสนทนา และเป็นการสนทนาธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า การสนทนาธรรมตามการ เป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง ใน มงคล ๓๘ ประการ ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ใน มงคลสูตร

เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เป็นวันมงคล เป็นวันที่เป็นไปเพื่อความเจริญของความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ซึ่งในเมื่อเป็นการสนทนาธรรมตามกาล นี่เป็นกาลที่จะได้สนทนาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็จะขออนุญาตกราบเรียนทุกท่าน ว่าท่านจะมีข้อสนทนาประการใด จะเป็นคำถามหรือว่าการแสดงความคิดเห็นใดๆ ท่านสามารถร่วมสนทนาได้ตลอดเวลา

ก่อนอื่น ที่เรามาที่ วปอ. เราควรที่จะได้พิจารณาเริ่มต้นลำดับแรกเลยว่า เราจะมาคุยเรื่องนี้ที่ วปอ. กันทำไม? พระพุทธศาสนาเถรวาทจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับ วปอ. และสถาบันที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและดำรงราชอาณาจักรไว้ ก็ต้องขอกราบเรียนท่านอาจารย์จริยา เจียมวิจิตร และรวมทั้งท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งท่านก็เป็นศิษย์เก่า วปอ. มาก่อน และท่านก็เป็นผู้ที่มีความสนใจ ศึกษา และเห็นประโยชน์อย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา ขอเริ่มจากอาจารย์จริยาก่อนนะครับ อาจารย์จริยาครับ พระพุทธศาสนาเถรวาท เกี่ยวข้องอย่างไรกับ วปอ.และการอบรมในครั้งนี้ ครับ

อาจารย์จริยา กราบเท้าท่านอาจารย์และกราบเรียนพี่ๆ น้องๆ ดิฉันขออนุญาตใช้คำว่าพี่ เพราะดิฉันเรียน วปอ. รุ่นที่ ๓๘ ทุกท่านในที่นี้ นักศึกษาทุกท่านก็เป็นรุ่นน้อง เพราะฉะนั้น เรามาพูดกันในฐานะพี่น้อง ทำไมพี่ถึงอยากที่จะให้น้องรู้จักคำว่า "พุทธศาสนาเถรวาท" เมื่อรัฐธรรมนูญได้บรรจุคำว่า "พุทธศาสนาเถรวาท" ไว้ นั่นต้องมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่า ประเทศเรา พุทธศาสนา เป็น พุทธศาสนาเถรวาท แต่เราได้รู้จักพุทธศาสนาเถรวาทกันหรือยัง? เพระฉะนั้น ในเวลา ๓ ชั่วโมงต่อไปนี้ ขอให้น้องๆ อย่าละเลยโอกาส สิ่งใดที่มีความสนใจ ใส่ใจ เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "พุทธศาสนาเถรวาท" หรือเรื่องอะไรๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา อย่าได้รีรอ รีบถาม แล้วจะได้คำตอบ เชิญท่านอาจารย์จรัญค่ะ

ท่านจรัญ พี่ๆ น้องๆ วปอ. สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง และเสนาธิการทหาร ที่เคารพทุกท่านครับ เรื่องของพระพุทธศาสนา เชื่อมโยงกับระบอบการปกครองของประเทศไทยมาแต่โบราณ ไม่ว่าประเทศไทยจะอยู่ในรูปแบบการปกครองแบบใด หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ถูกน้อมนำมาเป็นสารัตถะของระบอบการปกครองนั้นตลอดมา ไม่เคยขาดตอน แล้วคนไทยรู้จักภาพรวมนี้ว่า เป็นการปกครองโดยธรรม เป็นการปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของอาณาราษฎร

พุทธศาสนายังเชื่อมโยงกับความมั่นคงของราชอาณาจักรไทยทุกด้าน เราจับตั้งแต่ด้านการเมือง พระพุทธศาสนาเถรวาทของไทย ไม่เหมือนกับที่ปรากฏอยู่ในหลายๆ ประเทศ ในแง่ที่ว่า รัฐธรรมนูญไทย แยกภิกษุ ภิกษุณี สามเณร นักพรต นักบวช ออกจากการเมือง ค่อนข้างเด็ดขาด ถึงแม้ว่าเนื้อหาหลักวิชาของพุทธศาสนาได้ถูกน้อมนำมาใช้ เป็นแก่นแกนในการปกครองประเทศ แต่ก็ปฏิเสธที่จะให้ภิกษุ สามเณร นักบวช ในพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง นี่ก็เป็นลักษณะพิเศษ เพราะฉะนั้น ภิกษุสามเณรในพระศาสนาจึงถูกบัญญัติตลอดมา ว่าท่านอยู่ในฐานะที่สูงกว่าการเมือง อย่าได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน

ทางด้านเศรษฐกิจ พุทธศาสนาเถรวาทชัดเจนมาก เพราะเป็นที่มาของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ระบบเศรษกิจพอเพียง ปรัชญาพอเพียง ปรากฏชัดเจนในหลักธรรมในพุทธศาสนาหลากหลายรูปแบบ แต่ว่าได้ถูกนำเสนอต่อประชาชนคนไทยในภาษาไทยที่เรียบง่าย ที่พวกเรารู้จักและเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้การปกครองและระบบเศรษฐกิจของชาติไทยก้าวหน้า พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ไม่บ้าบิ่น ไม่สุ่มเสี่ยง และมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง

พุทธศาสนาเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางสังคม และวิถีชีวิตของประชาชน อย่างแนบแน่น เราจะพบการที่ถูกนำเอาหลักการในพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาอยู่ในแนวทาง นโยบายในการที่จะหล่อหลอมความคิดของประชาชนคนไทย ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รัก สามัคคี และด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ถึงได้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ว่า รัฐจะต้องส่งเสริมคำสอน และช่วยเผยแพร่หลักธรรมของพุทธศาสนาเถรวาท รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย หลักธรรม คำสอน ที่ถูกต้อง แท้จริง ของพุทธศาสนาเถรวาท รวมทั้งต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะพุทธบริษัททั้ง ๔ ได้มีส่วนช่วยกัน ในการเผยแพร่ ศึกษา และป้องกัน ความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นของวิเศษที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศไทย

ผศ.อรรณพ กราบขอบพระคุณทั้งสองท่านครับ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจว่าเถรวาทคืออะไร บรรจุสักกี่ฉบับก็คงจะไม่เกิดประโยชน์ แต่เมื่อเข้าใจแล้ว จึงบรรจุในกฏหมาย ก็เห็นถึงความที่กฏหมายได้เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย ก็จะขอกราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ ว่าพระพุทธศาสนา กับความมั่นคงของชาติ และโดยเฉพาะ การป้องกันราชอาณาจักร จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร ครับ

ท่านอาจารย์ ทุกคนได้ยินคำว่า "พระพุทธศาสนา" และได้ยินคำว่า "เถรวาท" จะมีความต่างกันไหม? ระหว่าง พระพุทธศาสนา กับ เถรวาท เพราะเหตุว่า การที่จะได้ยินได้ฟังคำอะไรก็ตาม ต้องไตร่ตรอง ต้องเป็นผู้ตรง ต่อเหตุผล และ ความเป็นจริง ได้ยินคำว่า พระพุทธศาสนา ไม่ยากใช่ไหม? ศาสนา คือ คำสอน ของศาสดา แล้วแต่ว่าศาสดานั้นเป็นใคร แต่นี่ "พุทธะ-ศาสนา" ความหมายที่แท้จริงของ "พุทธะ" ก็คือว่า ผู้ทรงตรัสรู้ความจริง ไม่มีบุคคลใดเปรียบได้ทั้งสากลจักรวาล ไม่ว่าโลกสวรรค์ หรือพรหมโลก มาเฝ้าทูลถามปัญหา เพราะว่าเขาไม่รู้อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

เพราะฉะนั้น "ถ้าไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" มีใครจะเข้าใจพระพุทธศาสนาบ้าง? ก็ "เพียงแต่เรียก" ว่า พระพุทธศาสนา แล้วก็ยังกล่าวคำว่า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง "ตรง" หรือเปล่า? "มั่นคง" หรือเปล่า? "เข้าใจ" หรือเปล่า? พระพุทธศาสนา ไม่ใช่หมายความว่า ให้ใครท่อง ให้สวดคำที่พระองค์ตรัสแล้ว แต่ "ไม่เข้าใจ" นั่นไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าเราจะฟังคำไหน ที่ไหน นอกสถานที่นี้ ก็ "เพื่อเข้าใจถูกต้อง" ไม่ใช่ว่า ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่เข้าใจ นั่นไม่มีประโยชน์ของการฟังเลย เวลาแต่ละนาที มีค่า เพราะว่า ใครก็ไม่รู้ว่า ใครจะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ ก็ได้!! พราะฉะนั้น ก่อนจากโลกนี้ เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการได้ยินคำว่า พระพุทธศาสนา มากน้อยแค่ไหน?

เพราะว่า จริงๆ แล้ว ใครเป็นที่เคารพสูงสุดของทุกคน ผู้ที่ทุกคนเคารพสูงสุด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า ชื่อนี้ ไม่ใช่ชื่อที่ใครจะเรียกใครได้ แต่เป็นพระคุณนาม ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถจะเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกับพระอรหันต์รูปอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การฟัง ที่จะเข้าใจอะไรทั้งหมดก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ตรง พิจารณา จะรักษาประเทศ ต้องเป็นคนตรง และต้องไตร่ตรอง และต้องเข้าใจถูกต้อง ถ้าเข้าใจผิด รักษาประเทศชาติไม่ได้!!

แม้ว่าการเดินทางไปสนทนาธรรม เพื่อการเผยแพร่ ดำรงรักษาไว้ ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้อง ในพระธรรมวินัยที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ณ สถานที่ที่กล่าวกันว่าเป็นสถานที่ที่มีบุคคลสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้า มั่นคง ของประเทศ มาศึกษา อบรม เล่าเรียน เพื่อพัฒนา เพิ่มพูน ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปนั้น จะจบลงไปนานแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ คือ บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของการเผยแพร่พระธรรมคำสอนจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้กระทำแล้วด้วยดี ณ สถานที่นั้น โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะ อันจะเป็นบันทึกเพื่อประโยชน์ตามควร แก่บุคคลผู้มีปัญญา ที่แสวงหาความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมคำสอนที่ได้ทรงตรัสรู้และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาลต่อๆ ไป

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อนุโมทนายินดีในความดีของท่านพลโท ขจรฤทธิ์ นิลกำแหง ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และท่านผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

ขอเชิญคลิกชมและฟังบันทึกการสนทนาธรรมที่มีคุณค่ายิ่งในครั้งนี้ ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง :


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
natthayapinthong339
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Nataya
วันที่ 22 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
mammam929
วันที่ 23 ก.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกความดีงามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chvj
วันที่ 13 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kullawat
วันที่ 19 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ