[คำที่ ๑๑] ขันติ

 
Sudhipong.U
วันที่  10 พ.ย. 2554
หมายเลข  32131
อ่าน  1,174

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  :ขันติ

โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย

ขันติ เป็นคำมาจากภาษาบาลีตรงตัว คือ ขนฺติ แปลว่า ความอดทน, ความอดกลั้น มีรากศัพท์มาจากขม ธาตุ ลงในอรรถว่า อดทน, ทน, อดกลั้น  + ติ ปัจจัย แปลงที่สุดธาตุ คือ แปลง มฺ  เป็น  นฺ จึงสำเร็จรูปเป็น ขนฺติ สำหรับขันติ ตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นธรรมฝ่ายดี  กล่าวคือ เป็นกุศลขันธ์ที่มีอโทสะเป็นประธาน ความหมายของขันติมีหลายประการ ดังข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี-ปกรณ์ ว่า ขันติ เป็นไฉน? ความอดทน  กิริยาที่อดทน ความอดกลั้น ความไม่ดุร้าย ความไม่ปากร้าย ความแช่มชื่นแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ขันติ.

พระธรรมที่เกี่ยวกับขันติ ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต  ปฐมขมสูตร คือ

“ปฏิบัติอดทนเป็นไฉน?  คือ บุคคลบางคน  เขาด่า ไม่ด่าตอบ เขาโกรธ ไม่โกรธตอบ เขาวิวาท ไม่วิวาทตอบ นี้เรียกว่า ปฏิบัติอดทน”

และจาก... ปรมัตถโชติกา  อรรถกถา  ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต  วาเสฏฐสูตร

“เรา(ตถาคต) เรียกผู้ไม่โกรธ ผู้อดกลั้นต่อคำด่าว่าด้วยอักโกสวัตถุ  ๑๐ (วัตถุเป็นเครื่องด่า ๑๐ ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นอูฐ  เจ้าเป็นสัตว์นรก เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน สุคติไม่มีสำหรับเจ้า ทุคติเท่านั้นที่เจ้าพึงหวัง) ผู้อดกลั้นต่อการทุบตีด้วยฝ่ามือเป็นต้น และอดทนต่อการจองจำ ด้วยการมัดด้วยเชือกเป็นต้น ผู้มีกำลังคือขันติ  เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือขันติ  ผู้มีหมู่พลคือขันติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยหมู่พลคือขันตินั้นเอง อันเป็นหมู่พลแห่งการเกิดบ่อยๆ ผู้เห็นปานนั้นว่า เป็นพราหมณ์ (ผู้มีบาปอันลอยแล้ว,ผู้ประเสริฐ,พระอรหันต์)”

ธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม แต่ดูเหมือนจะไปหาว่า ขณะไหนเป็นความอดทน ขณะไหนมีความอดทน แต่ความอดทนมีแล้ว เกิดแล้ว เป็นไปแล้ว ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (เพราะรูปธรรม อดทนไม่ได้) เช่น อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องมีความอดทน ในการฟัง ในการศึกษาต่อไป  เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือ ความอดทนในชีวิตประจำวัน ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ อดทนทั้งต่อกุศล อดทนต่อผลของกุศล นอกจากนั้น ยังอดทนต่อผลของกุศลด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และ ได้รับสิ่งที่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของกุศล ทั้งโทสะ และโลภะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความอดทน เป็นธรรมเครื่องเผาบาปธรรม พร้อมทั้งเป็นธรรมที่ทำให้ถึงซึ่งฝั่ง คือ การดับกิเลส (บารมี) ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันเพื่อเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นคุณประโยชน์ของความอดทนในชีวิตประจำวัน

พระธรรม ควรค่าแก่การศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง และพระธรรมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้นจริงๆ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ