[คำที่ ๑๓] มนุษย์
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “มนุสฺส”
โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า มนุษย์ เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า มนุสฺส (อ่านว่า มะ-นุด-สะ) มีรากศัพท์ มาจากคำว่า มน (ใจ) + อุสฺส (สูง) สำเร็จรูปเป็น มนุสฺส แปลว่า ผู้มีใจสูง ดังข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปฐมปีฐวิมาน ว่า
“ในบทว่า มนุสฺสภูตา นี้ ชื่อว่า มนุษย์ เพราะมีใจสูง คือ มีใจอันสร้างสมโดยคุณคือสติ (ระลึกเป็นไปในกุศล) ความกล้า (ในทางที่เป็นกุศล) ความประพฤติอย่างประเสริฐ ความเพียร ความมั่นคง มีจิตประกอบด้วยคุณอันสูงสุด”
หรือ มีรากศัพท์มาจากคำว่า มน (รู้) + อุสส ปัจจัย สำเร็จรูปเป็น มนุสฺส แปลว่า ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ดังข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปฐมปีฐวิมาน เช่นเดียวกัน ว่า
“ผู้ใด รู้จักประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ของตน เชื่อผลแห่งกรรม มีหิริ(ละอายบาป) โอตตัปปะ (เกรงกลัวบาป) สมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง มากไปด้วยความสลดใจ งดเว้น-อกุศลกรรมบถ ประพฤติเอื้อเฟื้อในกุศลกรรมบถ บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้งหลาย ผู้นี้ ตั้งอยู่ในมนุษยธรรม ชื่อว่า มนุษย์โดยปรมัตถ์ (แท้จริง)”.
เรื่องมนุษย์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าทุกคนที่เกิดมาในมนุษย์ภูมิ ล้วนเป็นมนุษย์ทั้งหมด แต่ว่ารู้จักมนุษย์ดีหรือยัง ทั้งๆ ที่เกิดเป็นมนุษย์ มีชีวิตอยู่ ยังไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น จนกว่าจะจากโลกนี้ไปถึงจะสิ้นสุดความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ เป็นมนุษย์จริงๆ หรือเป็นมนุษย์ประเภทไหน? เพราะเหตุว่าทุกคนเกิดเป็นมนุษย์ก็จริง แต่ว่าหลากหลายแตกต่างกันมาก ไม่มีใครเหมือนใคร ไม่มีใครซ้ำกับใครเลย แม้แต่ในขณะนี้ คนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็คิดอย่างหนึ่ง เป็นความหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น มนุษย์น่าสนใจที่สุด ถ้าไม่มีมนุษย์ โลกนี้ก็คงจะไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเหตุว่าแม้จะมีน้ำท่วมหรือมีภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้น แต่ว่าไม่มีใครไปรู้ไปเห็นไปเป็นทุกข์กับเหตุการณ์นั้นๆ ก็จะไม่มีความเดือดร้อนเลย
เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วคงจะไม่รู้ว่า ธรรมชาติถึงแม้ว่าจะก่อความพินาศต่างๆ แต่ก็ยังไม่เท่ามนุษย์ ซึ่งมนุษย์นี้เองสามารถทำได้ทั้งสิ่งที่เลวร้ายที่สุด และสามารถที่จะทำได้ทั้งสิ่งที่ดีที่สุด จากการเป็นผู้ที่เลวที่สุด จนถึงความเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ใครจะเป็นอย่างไร? เพราะเหตุว่า มนุษย์หลากหลายมาก และไม่มีใครสามารถจะไปบังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงให้คนนั้นๆ หรือว่าคนอื่นเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ แม้แต่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเหนือวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น คือความรู้เรื่องมนุษย์ นั่นเอง
จากความหมายข้างต้น นั้น มนุษย์ หมายถึง ผู้ที่มีใจสูง ใจสูงด้วยคุณธรรม สูงด้วยความดีประการต่างๆ สูงด้วยศีล ด้วยความเพียร ด้วยความประพฤติอันประเสริฐ ด้วยความมั่นคงที่จะเจริญซึ่งความดีประการต่างๆ และนอกจากนั้น มนุษย์ ยังหมายถึง ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ด้วย เมื่อรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์แล้ว ก็น้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วละเว้นในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ นี้คือความหมายของมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่แท้จริงด้วย
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม เท่านั้น แต่เพราะมีจิตที่หลากหลายต่างกันออกไป มีการกระทำที่แตกต่างกัน มีการได้รับผลของกรรมที่ต่างกัน มนุษย์จึงมีหลายประเภท ก็เพราะจิต นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าจิตดีเป็นกุศลจิต มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เป็นมนุษย์ที่ดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดี มีการกระทำที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ดี
ข้อสำคัญที่ทุกคนควรพิจารณา คือ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากแสนยาก ก็ควรที่จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง แสวงหาประโยชน์จากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ถูกต้องเลยครับ ถ้าเข้าใจความหมายของความเป็นมนุษย์ อย่างละเอียดลึกซึ้งจริงๆ ก็จะไม่ทำสิ่งใดๆที่มันเป็นโทษ และรีบเร่ง มุ่งทำสิ่งที่ดีที่สุดโดยการศึกษาพระธรรมอย่างตั้งใจรอบคอบไม่ประมาท ในความหมายของทุกคำในพระธรรม สาธุ ขออนุโมทนาในการเกื้อกูล ให้ความรูที่ถูกต้อง ผมได้รับประโยชน์มากมายเลยครับ ดีกว่าสมบัติพัสถานใดๆ ในโลกนี้