[คำที่ ๑๔] มัจฉริยะ

 
Sudhipong.U
วันที่  1 ธ.ค. 2554
หมายเลข  32134
อ่าน  1,317

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ :มจฺฉริย

โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า มจฺฉริย เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก มจฺฉร (ลงในอรรถว่า หวงแหน, ตระหนี่) + อิย ปัจจัย  สำเร็จรูปเป็น มจฺฉริย อ่านว่า  มัด-ฉะ-ริ-ยะ แปลว่า ความตระหนี่ [หรือบางครั้งก็แปลทับศัพท์ว่า มัจฉริยะ] เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน มัจฉริยะก็ยังมีอยู่, คำว่า มัจฉริยะ มีความหมายตามข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า 

มัจฉริยสัญโญชน์ เป็นไฉน? ความตระหนี่  ๕  คือ ตระหนี่อาวาส (ตระหนี่ที่อยู่ ไม่อยากให้คนอื่นมาอยู่หรือมาใช้ด้วย) ๑ ตระหนี่ตระกูล (ตระหนี่ตระกูลที่อุปัฏฐากตน ไม่อยากให้ผู้อุปัฏฐากตนไปอุปัฏฐากผู้อื่น) ๑ ตระหนี่ลาภ(ตระหนี่วัตถุสิ่งของ) ๑ ตระหนี่วรรณะ (ตระหนี่คำชม) ๑ ตระหนี่ธรรม (ตระหนี่ธรรม ไม่อยากให้ผู้อื่นได้เข้าใจธรรม) ๑,  การตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่  ความตระหนี่ ความหวงแหน ความเหนียวแน่น ความไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่เผื่อแผ่แห่งจิต มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า มัจฉริยสัญโญชน์ (กิเลสที่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ คือ  ความตระหนี่)

พระธรรมเทศนาที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมซึ่งเป็นไปเพื่อเห็นโทษของความตระหนี่  เพื่อขัดเกลาความตระหนี่  มีดังนี้ 

บุคคลผู้ตายแล้ว เมื่อบุคคลอื่นนำสิ่งของทั้งหลาย มีข้าวและน้ำเป็นต้น แม้มาก มาวางแวดล้อมแล้ว บอกว่า สิ่งนี้ จงเป็นของผู้นี้ สิ่งนี้ จงเป็นของผู้นี้ ดังนี้ บุคคลผู้ตายแล้วเหล่านั้น ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาทำการแจกจ่ายได้ ฉันใด แม้บุคคลผู้ไม่ให้ทาน ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น โภคะทั้งหลายของผู้ตายแล้ว และของผู้มีปกติไม่ให้ทาน จึงชื่อว่าเสมอกัน

(จาก  ... สารัตถปกาสินี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค  มัจฉริสูตร)

ในชีวิตประจำวัน ควรอย่างยิ่งที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ โดยไม่มีเว้น เพราะเหตุว่าถ้ากุศลจิตไม่เกิดแล้ว จิตก็เป็นกุศล ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น  ทางกาย และทางใจ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว กุศลธรรมทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องละ เป็นเรื่องที่จะต้องดับให้หมดสิ้น รวมถึงมัจฉริยะ ความตระหนี่ ความหวงแหนวัตถุสิ่งของของตน ด้วย ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่ คือ การให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ควรที่จะได้พิจารณาว่า บุคคลผู้ที่ควรแก่การรับวัตถุทาน มีมากทีเดียว และถ้าวันหนึ่งๆ ไม่มีกุศลในขั้นทานเลย ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะดับกิเลสให้หมดสิ้น ในชาติหนึ่งๆ ที่ทานกุศลไม่เกิด ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีกุศลจิตแม้ในขั้นทาน ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้เลย

ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ กำลังเดินทางในสังสารวัฏฏ์ และจะเดินทางไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาคมกล้าถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ คนที่เดินทางร่วมกันในสังสารวัฏฏ์ เมื่อไทยธรรม (วัตถุสิ่งของที่ควรให้) แม้มีน้อย ก็ทำการแบ่งปันให้กันได้ เพราะยังไม่สิ้นสุดการเดินทาง เพราะฉะนั้น ในโลกหรือในทางที่กันดารลำบากอย่างนี้ ถ้ามีทางใดที่จะเกื้อกูลอุปการะกันได้ แม้วัตถุสิ่งของมีน้อย ก็ควรที่จะแบ่งให้ เพื่ออุปการะเกื้อกูลสงเคราะห์ซึ่งกันและกันให้ผ่านพ้นความทุกข์ ให้ถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์ได้ และที่สำคัญสังสารวัฏฏ์นั้นก็ยืดยาวมาก ไม่ทราบว่าจะเดินทางกันไปอีกไกลสักเท่าไร ถ้าไม่เกื้อกูลอุปการะกันเลย ก็ไม่สามารถที่จะช่วยกันและกัน ผลัดกันให้ ผลัดกันรับ ไปจนกว่าจะถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์ได้

จากข้อความในอรรถกถา มัจฉริสูตร นั้น แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า คนตายแล้ว เมื่อข้าวและน้ำเป็นต้นมากมายที่พวกญาตินำมาตั้งแวดล้อมไว้ คนตายนั้นก็จะลุกขึ้นมาทำการจำแนกไม่ได้ว่า อันนี้จงเป็นของผู้นี้ อันนี้จงเป็นของผู้นี้ ฉันใด คนผู้มีปกติไม่ให้ก็ฉันนั้น แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า โภคทรัพย์ของคนตาย กับโภคทรัพย์ของคนผู้มักไม่ให้ ชื่อว่าเป็นของเสมอกัน บุคคลใดก็ตามที่มีโภคทรัพย์มาก แต่ไม่ได้แจก ไม่ได้แบ่งปันให้ใครในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว ถึงแม้ว่าญาติพี่น้องจะเอาทรัพย์สมบัติวัตถุสิ่งของไปแวดล้อมวางไว้ใกล้ชิดสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาจำแนกแจกให้ว่า ของนี้จงเป็นของท่านผู้นี้ ของนี้จงเป็นของท่านผู้นี้ ได้ ซึ่งควรค่าแก่การพิจารณาทีเดียว

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีโภคสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้แจก ไม่ได้จำแนกให้กับใครเลย ก็ย่อมเหมือนคนตายที่ไม่สามารถจะแจกจำแนกทรัพย์สมบัติ ที่มีผู้เอามาวางแวดล้อมไว้ให้ได้ นั่นเอง ซึ่งไม่ควรเลยที่จะเป็นอย่างนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่ในขั้นของทาน (การให้) ก็ไม่ควรที่จะละเลยเช่นเดียวกัน การให้ทานในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อกำจัดกุศลธรรม คือ ความตระหนี่ของตนเอง และทานกุศลดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น อีกด้วย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พงษ์
วันที่ 16 ก.ย. 2563

ผมพึ่งจะเริ่มมาบาลีวันละคำ ครับ อ่านแล้ว ได้ประโยชน์มากมายเลย

และผมก็ทำตามที่ อ.สุจินต์ ฯ ท่านบอกว่าอย่างศึกษาผิวเผิน ผมก็อ่านอย่าง

ระมัดระวัง ตั้งใจอ่านศึกษาความหมายให้ลึกซึ้ง และเข้าใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ก็ขอยืนยันว่า ถ้าตั้งใจศึกษาอย่างไม่ผิวเผิน ไม่ประมาท ไม่เร่งรีบ ให้เป็นไป

ตามสังขารที่จะปรุงแต่งปัญญาของเราให้เข้าใจขึ้นทีละเล็กน้อย

แค่เริ่มศึกษาก็เข้าใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ่จริงๆครับ และก็จะไม่ประมาทในการฟังธรรม

จะอ่านจะฟังด้วยความเคารพครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ