[คำที่ ๑๕] อิสสา

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ธ.ค. 2554
หมายเลข  32135
อ่าน  516

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ : “อิสฺสา

โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า อิสฺสา เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก อิสฺส ธาตุ ลงในอรรถว่าริษยา + อ ปัจจัย + อา สระที่สุดศัพท์ จึงสำเร็จรูปเป็น อิสฺสา อ่านว่า อิด -  สา แปลว่า ความริษยา เป็นสภาพธรรมที่มีสมบัติ ลาภ สักการะ ความเคารพ การนับถือ การบูชา เป็นต้น ของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์ คือ บุคคลผู้ที่มีความริษยานั้น เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับสมบัติ ลาภ สักการะ ความเคารพ การนับถือ การบูชา ก็ทนไม่ได้ เกิดอาการไม่พอใจ เสียใจ เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดีมีความสุข

คำว่า  อิสฺสา  มีความหมายตามข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก  ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

อิสสาสัญโญชน์ เป็นไฉน ? การริษยา กิริยาที่ริษยา ความริษยา การเกียดกัน (กีดกัน) กิริยาที่เกียดกัน ความเกียดกันในลาภสักการะ การทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่น อันใด นี้เรียกว่า อิสสาสัญโญชน์ (กิเลสที่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ คือ ความริษยา)

พระธรรมเทศนาเกี่ยวกับความริษยาที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม  มีดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็ความริษยาอันชั่วช้า เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ทาสหรือคนเข้าไปอาศัยของคฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดี ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ คฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดีนี้ ไม่พึงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง,  อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่าโอหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ ไม่พึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความริษยาอันชั่วช้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  กายสูตร)

คำว่า  ความริษยา มาจากคำภาษาบาลีว่า อิสฺสา ไม่ใช่ มาจากคำว่า อิจฺฉา เพราะอิจฺฉา ในภาษาบาลี หมายถึง ความติดข้องต้องการซึ่งเป็นกิเลสฝ่ายโลภะ ความริษยาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรม ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ก็อาจจะมีได้เหมือนกันทั้งนั้น ความริษยาจึงไม่เว้นใครเลยทั้งสิ้น ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ดับความริษยาอย่างเด็ดขาดไม่ได้  แต่ละบุคคลย่อมมีตามการสะสม บางคนอาจจะมีมาก บางคนอาจจะมีน้อย จึงควรที่จะพิจารณาตนเองว่ามีความริษยาบ้างหรือไม่ในชีวิตประจำวัน? บางคนอาจจะไม่ริษยาในเมื่อผู้อื่นได้วัตถุสิ่งของต่างๆ แต่อาจจะมีความริษยาในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ของบุคคลอื่นก็ได้ นี้เป็นความจริงของกิเลสที่สะสมมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปดับความริษยาได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีความริษยาเกิดขึ้นอีกเลย, ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ควรที่จะไปริษยาบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย เพราะถึงแม้ว่าจิตของเราจะเร่าร้อนเพราะความริษยาสักเท่าใด บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข เพราะกรรมดีที่เขาได้กระทำมาแล้ว ก็มีเหตุที่จะทำให้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้นอุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรที่จะให้จิตเป็นกุศลที่ริษยาในบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็ควรทราบว่าขณะนั้นเป็นกุศล ที่ควรจะละให้หมดสิ้นไป และการที่จะละได้นั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรมในชีวิตประจำวัน จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 12 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พงษ์
วันที่ 16 ก.ย. 2563

ขอให้ อ.คำปั่น เขียนความหมายแบบนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ

ผมได้รับประโยชน์จริง แค่พึ่งอ่านได้สิบกว่าคำ ก็ได้รับประโยชน์

จากความหมายของคำแต่ละคำ ที่ถูกต้อง

ทำให้ได้รับความก้าวหน้าในการศึกษาพระธรรมดียิ่งขึ้นครับ

ขออนุโมทนาในควาเมตตาของอ.และคณะเจ้าหน้าที่่ทุกท่านครับ

ขอยืนยันว่า สิ่งที่ท่านเขียนมาทุกบทความทุกความหมาย 

ผมได้รับประโยชน์มากจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ