[คำที่ ๑๖] ธรรมทาน

 
Sudhipong.U
วันที่  15 ธ.ค. 2554
หมายเลข  32136
อ่าน  416

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  : “ธรรมทาน

โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า ธรรมทาน เป็นคำมาจากภาษาบาลีตรงตัวว่า ธมฺมทาน มาจากคำสองคำ คือ ธมฺม (สิ่งที่มีจริง)  + ทาน (การให้) รวมกันเป็น ธมฺมทาน อ่านตามภาษาบาลีว่า  ทำ-มะ-ทา-นะ อ่านตามภาษาไทย ว่า ทำ-มะ-ทาน แปลว่า การให้ธรรม, การให้ผู้อื่นได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ตอนหนึ่งว่า 

ธรรมทาน ได้แก่ การแสดงธรรมไม่วิปริต (คือไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) แก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง, และได้แก่ การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง นำผู้เข้าถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐ-ธรรมมิกประโยชน์ (ประโยชน์ปัจจุบัน) สัมปรายิกประโยชน์ (ประโยชน์ในภายหน้า) และปรมัตถประโยชน์ (ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การบรรลุมรรคผล)

พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับการให้ธรรม ควรแก่การศึกษาและพิจารณาไตร่ตรอง เพิ่มเติม มีดังนี้ คือ 

เว้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ผู้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัปป์ทั้งสิ้น ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น โดยธรรมดาของตนได้ ต่อเมื่อได้ฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณ ด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา; เพราะเหตุแม้นี้  มหาบพิตร ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุด. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "สพฺพทาน ธมฺมทาน  ชินาติ (การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง)".

(จาก  ...  ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

 

ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรม การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรม ถ้าหากจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมทาน เป็นการสละความเห็นแก่ตัวขั้นสูงทีเดียว เพราะเหตุว่ากุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็เพราะธรรมทาน แม้ว่าจะมีวัตถุทานสักเท่าไร ก็ไม่พอที่จะเกื้อกูลคนที่ยากไร้ที่ควรแก่การที่จะรับวัตถุทานในสังสารวัฏฏ์ ทั้งในอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งในอนาคตได้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ด้วยวัตถุทาน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้เขาอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เวียนสุข เวียนทุกข์ ซึ่งไม่พ้นจากความลำบากยากไร้ได้โดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ธรรมทานจึงเป็นการสละความเห็นแก่ตัว สละความยึดมั่นในตัวตน โดยบำเพ็ญประโยชน์ขั้นสูงสุดเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น บุคคลผู้ให้ธรรมอย่างสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการให้ธรรมของพระองค์ นั้น ทำให้สัตว์โลกได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มีเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหมบุคคลทั้งหลาย

บุคคลผู้ที่จะเกื้อกูลผู้อื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม เผยแพร่พระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง ตรงตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  การช่วยเหลือบุคคลอื่นให้เข้าใจพระธรรม โดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการสนทนาธรรม แสดงธรรม พิมพ์หนังสือธรรม การสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่จะเป็นไปในธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรมทาน และพร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกประการด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ที่จะให้ธรรมเป็นทานเท่านั้น

การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรม ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำก็ไม่มีวันจบ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะได้พิจารณาจริงๆ ว่าจะต้องมีความมั่นคงที่จะเจริญกุศลทุกประการ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถเกื้อกูลให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย ตามกำลังปัญญาของตนเอง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 12 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ