[คำที่ ๑๘] มะละ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “มล”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า มล [อ่านว่า มะ - ละ] เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก มล ธาตุ ลงในอรรถว่า เศร้าหมอง,ไม่สะอาด + อ สระที่สุดศัพท์ จึงสำเร็จรูปเป็น มล แปลว่า เศร้าหมอง, ไม่สะอาด หรือแปลว่า มลทิน ก็ได้ โดยมุ่งหมายถึง กิเลส อกุศล เป็นส่วนใหญ่ ดังข้อความจากพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตอนหนึ่ง ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกับพราหมณ์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีจิตใจน้อมไปในกุศลอยู่เสมอว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย ทำกุศลอยู่ คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ ย่อมนำมลทิน คือ อกุศลของตน ออกโดยลำดับทีเดียว”
พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับเรื่องมลทิน ที่ควรจะได้ศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม จาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต มลสูตร มีดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทิน ๘ ประการนี้ ๘ ประการ เป็นไฉน ? คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนต์ มีการไม่ท่องบ่น เป็นมลทิน ๑ เรือน มีความไม่หมั่นเป็นมลทิน ๑ ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ ๑ ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา ๑ ความประพฤติชั่ว เป็นมลทินของหญิง ๑ ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้ ๑ อกุศลธรรมที่ลามก เป็นมลทิน ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ๑ เราจะบอกมลทินที่ยิ่งกว่ามลทิน นั้น คือ อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทิน ๘ ประการนี้แล”
มลทิน หมายถึง ความไม่บริสุทธิ์ ความเศร้าหมอง ความมัวหมอง ไม่เว้นแม้แต่ความมัวหมองเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน มลทินที่แท้จริงคือ กิเลส อกุศลประการต่างๆ ซึ่งเป็นศัตรูภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา เป็นมลทินที่ยิ่งกว่ามลทินทั้งหลาย คนที่ยังมีกิเลส จะกล่าวว่า ตนเองไม่มีมลทิน เป็นผู้ปราศจากมลทินไม่ได้ เพราะบุคคลผู้ที่ไม่มีมลทิน เป็นผู้ที่ปราศจากมลทินจริงๆ คือ พระอรหันต์เท่านั้น มลทินที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้นั้น มีหลายประเภท ดังข้อความจากมลสูตร โดยสรุปได้ดังนี้ คือ
๑. มนต์ มีการไม่ท่องบ่น (สาธยาย,ทบทวน) เป็นมลทิน (ปริยัติหรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ได้ศึกษาแล้ว เมื่อไม่ทบทวน หรือไม่ประกอบบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเสื่อมสูญ ไม่ปรากฏติดต่อกัน)
๒. เรือน มีความไม่หมั่น เป็นมลทิน (บุคคลผู้อยู่ครองเรือน เมื่อไม่ทำกิจมีการซ่อมแซมเรือนที่ชำรุด เป็นต้น ไม่ปัดกวาดทำความสะอาด เรือนย่อมสกปรก หรือถึงกับพังพินาศได้)
๓. ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ (คฤหัสถ์ และบรรพชิต ผู้เกียจคร้านในการชำระสรีระร่างกาย และบริขารของใช้ต่างๆ ย่อมมีผิวพรรณมัวหมอง)
๔. ความประมาท เป็นมลทิน ของผู้รักษา (เมื่อบุคคลผู้รักษาสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มัวหลับหรือเล่นเพลินด้วยอำนาจแห่งความประมาท ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความพินาศได้)
๕. ความประพฤติชั่ว เป็นมลทินของหญิง (ความประพฤติชั่วในที่นี้กล่าวถึงหญิงที่ประพฤตินอกใจ แต่เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ขึ้นชื่อว่า ความประพฤติชั่ว ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ก็ไม่ดีทั้งนั้น)
๖. ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้ (บุคคลผู้มีความตระหนี่ ย่อมไม่สามารถจะให้ได้ แต่เพราะกำจัดความตระหนี่แล้ว จึงให้ได้)
๗. อกุศลธรรมที่ลามก เป็นมลทิน ทั้งโลกนี้และโลกหน้า (อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ยังสัตว์ให้พินาศ นำมาแต่สิ่งที่ไม่ดีมากมาย ไม่นำประโยชน์ใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย)
๘. อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง (อวิชชา เป็นมูลแห่งวัฏฏะ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับอวิชชาซึ่งเป็นความไม่รู้ได้อย่างเด็ดขาด สังสารวัฏฏ์ยังต้องดำเนินต่อไป)
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลจิตด้วย
ตามความเป็นจริง อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์มาให้ในภายหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อนเพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วยซึ่งเป็นมลทินที่แท้จริงของจิตใจ และถ้ามีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ยิ่งเร่าร้อนมาก กล่าวได้ว่าเร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำ และในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย เป็นจิตคนละประเภทกัน มีสภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (สภาพธรรมที่เลื่อมใสในกุศล) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย
การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรม และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งในกุศลและในอกุศลแม้จะเล็กน้อย เป็นผู้เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขจัดมลทิน คือ กิเลสอกุศลของตนเอง สิ่งที่จะขจัดมลทินดังกล่าวนี้ได้ ต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ถ้ากุศลไม่เกิดขึ้นไม่เจริญขึ้นเลย ก็เป็นโอกาสของอกุศลที่นับวันจะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไขหรือขัดเกลาได้ การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล กุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย จึงควรอย่างที่จะได้เจริญกุศลและอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมสามารถดับมลทิน คือ กิเลสอกุศลได้ตามลำดับขั้น
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ