[คำที่ ๑๙] ปุถุชน

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ม.ค. 2555
หมายเลข  32139
อ่าน  1,552

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ :ปุถุชฺชน

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า ปุถุชน เป็นคำมาจากภาษาบาลี ว่า ปุถุชฺชน มาจากคำว่า ปุถุ (หนา) + ชน (ชน,บุคคล) แล้วซ้อน ชฺ  จึงสำเร็จรูปเป็น ปุถุชฺชน (อ่านว่า ปุ-ถุด-ชะ-นะ) เขียนตามภาษาไทย เป็น ปุถุชน (อ่านว่า ปุ-ถุ-ชน) แปลว่า ชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส, บุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส, ชนผู้ไม่ใช่พระอริยบุคคล, ชนผู้ยังไม่ได้บรรลุโลกุตตรธรรม ในปปัญจสูทนี อรรถกถา  มัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์  มูลปริยายสูตร  ได้ให้ความหมายของคำว่า ปุถุชน  ไว้ดังนี้  

ชนทั้งหลาย ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอรรถว่า ยังกิเลสหนาให้เกิด, ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอรรถว่า เดือดร้อน ด้วยความเดือดร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอรรถว่า เร่าร้อน ด้วยความเร่าร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอรรถว่า กำหนัด ติดใจ สยบ ลุ่มหลง ติดขัด ขัดข้อง พัวพันในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เป็นอันมาก, ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอรรถว่า ถูกนิวรณ์  ๕(ความพอใจในกาม ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม และ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) ร้อยรัดไว้ ปกคลุม ปิดบัง ครอบงำไว้ เป็นอันมาก,  อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอยู่ในหมู่ชนผู้มีธรรมจริยาต่ำ ผู้หันหลังให้กับอริยธรรม จำนวนมาก คือ นับไม่ถ้วน ซึ่งหันหลังให้กับอริยธรรม, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปุถุชน เพราะอรรถว่า ชนนี้ ถึงการนับว่าแยกอยู่ต่างหาก คือ ไม่เกี่ยวข้องกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณ มีศีล และสุตะ(การสดับตรับฟังพระธรรม) เป็นต้น

ปุถุชน มี ๒ ประเภท ดังข้อความจากสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร ว่า 

ปุถุชนมี ๒ พวก คือ อันธปุถุชน(ปุถุชนผู้มืดบอด) ๑  กัลยาณปุถุชน (ปุถุชนที่ดีงาม) ๑ 

ในปุถุชน ๒ พวกนั้น บุคคลผู้ไม่มีการเรียน การสอบถาม การฟัง การทรงจำ และการพิจารณาในขันธ์  ธาตุ  และอายตนะเป็นต้น นี้ชื่อว่า อันธปุถุชน บุคคลผู้มีกิจเหล่านั้น ชื่อว่า  กัลยาณปุถุชน. 


พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง แม้ว่าจะทรงแสดงโดยโวหารปรารภถึงบุคคลประเภทต่างๆ ที่มีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามการสะสมของแต่ละบุคคล  แต่ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริง จึงมีการสมมติว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา  เพื่อความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง 

โดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส และมักจะเป็นผู้พ่ายแพ้ให้กับกิเลส มักตกไปจากกุศล ซึ่งเป็นความจริงอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเหตุว่าปุถุชน คือ ผู้ไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังเต็มไปด้วยกิเลส  เป็นผู้มีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเลย แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าจะเป็นปุถุชนผู้ไม่ได้สะสมกุศล ไม่ได้สะสมปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่มีคุณความดีอะไรเลย เป็นปุถุชนผู้มืดบอด(อันธปุถุชน) หรือจะเป็นปุถุชนที่ดีงาม(กัลยาณปุถุชน) ผู้มีความจริงใจที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน  เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง ต่อไป  ทั้งหมดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน กุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต  แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา  เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน  ย่อมมีทางที่จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีโทษมาก กล่าวคือ  กาย  วาจา  ใจ เป็นไปกับด้วยกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่  ก็จะค่อย ๆ  น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น  มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น  เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากขึ้น  คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อย ๆ เจริญขึ้น  ได้  

บุคคลผู้ที่สนใจในการฟังพระธรรม  ศึกษาพระธรรม  ย่อมเป็นผู้เห็นประโยชน์ของปัญญา  เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้  แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย  เรื่องของการหมดกิเลส  ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ดังนั้น  สิ่งที่ขาดไม่ได้  คือ  การฟังพระธรรม  ศึกษาพระธรรม  สะสมปัญญา  ความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เพราะปัญญานี้เอง  ที่จะเป็นเหตุทำให้จากที่เป็นปุถุชนผู้เต็มไปด้วยกิเลสประการต่าง ๆ  มากมาย  สามารถดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสได้ตามลำดับ ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนได้ในที่สุด  ซึ่งจะต้องอาศัยกาลอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ