[คำที่ ๒๑] นรก

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ม.ค. 2555
หมายเลข  32141
อ่าน  1,058

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  :นิรย, นรก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า นิรย และ นรก เป็นคำภาษาบาลีทั้งคู่  เป็นอบายภูมิภูมิหนึ่ง เป็นภูมิที่ปราศจากความเจริญ  มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนมากมาย 

นิรย  มีรากศัพท์มาจาก นิ (ไม่มี,ปราศจาก) + อย (เจริญ ผลที่น่าปรารถนา) รวมกันเป็น  นิรย (อ่านว่า นิ - ระ - ยะ) แปลว่า ภูมิที่ปราศจากความเจริญ ปราศจากผลที่น่าปรารถนา และคำว่า นรก ก็เป็นคำบาลีอีกเหมือนกัน มีรากศัพท์มาจาก นี ธาตุ ลงในอรรถว่า นำไป + ณฺวุ ปัจจัย แปลง อี เป็น อ แปลง ณฺวุ เป็น อก แล้วซ้อน ร จึงสำเร็จรูปเป็น นรก  (อ่านตามภาษาบาลีว่า นะ-ระ-กะ  อ่านตามภาษาไทยตรงตัวว่า นะ-รก) แปลว่า ภูมิที่นำเอาคนบาปไป เมื่อกล่าวโดยสรุป แล้ว ทั้งนิรย และ นรก เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็หมายถึง นรก เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน และเป็นภูมิที่ปรากฏด้วยอำนาจของอกุศลกรรม เท่านั้น อบายภูมิทั้งหมด ปรากฏเพราะอกุศลกรรม ทั้งนั้น ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิทานสูตร ตอนหนึ่งว่า นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย (แดนเกิดแห่งเปรต) หรือ แม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ เพราะกรรมที่เกิดแต่โทสะ เพราะกรรมที่เกิด แต่โมหะ

พระธรรมเทศนาเกี่ยวกับนรก ที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติมจาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์  เทวทูตสูตร มีดังนี้ : พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของมหานรกนั้นล้วนสำเร็จแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์ (๑,๖๐๐ กิโลเมตร) รอบด้าน ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝาด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์อย่างแรงกล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตาย ตราบใดที่บาปกรรมยังไม่สิ้นสุด”

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ละบุคคลย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าเมื่อเกิดมาแล้ว ที่จะไม่จากโลกนี้ไปหรือว่าที่จะไม่ตายนั้น ไม่มี เกิดมาแล้วต้องตายอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น และหลังจากนั้นจะไปเกิดในภพภูมิใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องภพภูมิต่างๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้มากทีเดียว ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าคงจะไม่เป็นประโยชน์ถ้ากล่าวถึงเรื่องของภพภูมิอื่นที่ไม่ปรากฏ แต่ตามความเป็นจริงแล้วพระธรรมทั้งหมดมีอุปการะเกื้อกูลอย่างยิ่งแก่พุทธบริษัท เป็นประโยชน์ทุกยุคทุกสมัย เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศล แล้วก็เจริญกุศลยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน และคงจะมีบุคคลเป็นจำนวนมากที่กล่าวว่า “ไม่เห็นนรก ไม่เห็นสวรรค์” แต่ควรจะได้พิจารณาว่าเวลาที่สิ้นชีวิตลงแล้ว จะไปไหน จะไปเกิด ณ ที่ไหน เพราะเหตุว่ามนุษยโลกนี้เป็นที่เกิดซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม (เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้น) แต่ว่าตลอดชีวิตมานี้รวมถึงในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะกุศลกรรมเพียงอย่างเดียว กุศลกรรมก็มีไม่น้อยเหมือนกัน และกุศลกรรมนี้เองเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น รับผลของกุศลกรรมนั้น ตามควรแก่กุศลกรรมประเภทนั้นๆ

เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนควรพิจารณาว่า ไม่ควรจะเป็นผู้วางใจว่าจะไม่มีวันจะไปสู่บายภูมิ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะพ้นจากบายภูมิได้นั้น คือผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลขึ้นไป เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังมีโอกาสที่จะไปสู่บายภูมิได้ ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว ถ้าไปเกิดในบายภูมิแล้ว ย่อมมีแต่ความทุกข์ทรมาน ไม่มีโอกาสที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ อย่างที่มนุษย์ได้กระทำ พร้อมทั้งไม่มีโอกาสได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย ในขณะนี้ทุกคนเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิ มีชีวิตที่ดำเนินไปแตกต่างกันตามฐานะของตนๆ มีความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามที่แต่ละบุคคลได้ประสบอยู่ แต่ถ้าเป็นบายภูมิแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้เลย จะไม่มีความสุขเหมือนอย่างนี้ 

ดังนั้น จุดประสงค์ในการทรงแสดงเรื่องอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น ก็เพื่อที่จะให้ทุกคนเป็นผู้ไม่ประมาทในกุศล ไม่ประมาทในการเจริญกุศล ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง พ้นจากการที่จะต้องเกิดในอบายภูมิ รวมถึงพ้นจากการเกิดในภพภูมิอื่นๆ ทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสิ้นทุกข์ในวัฏฏะ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ