[คำที่ ๒๓] สังสาระ

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ก.พ. 2555
หมายเลข  32143
อ่าน  2,866

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  :สํสาร

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า สํสาร เป็นคำภาษาบาลี มาจากคำว่า สํ (พร้อม) + สร ธาตุ ลงอรรถว่า ไป,ท่องเที่ยวไป + ณ ปัจจัย ทีฆะ อ ที่ ส เป็น อา จึงสำเร็จรูปเป็น สํสาร (อ่านว่า สัง - สา - ระ) เขียนเป็นไทยว่า สังสาร หรือ สังสาระ แปลว่า การท่องเที่ยวไป,การท่องเที่ยวไปพร้อม มุ่งหมายถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมอย่างไม่ขาดสาย ดังข้อความจากสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหานิทานสูตร ว่า  ลำดับแห่งขันธ์ (สภาพธรรมที่เกิดดับ) ธาตุ (สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน) และอายตนะ(สภาพธรรมที่ประชุมกันในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์) ยังเป็นไปไม่ขาดสาย ท่านกล่าวว่า สังสาระ ถ้ามีคำว่า วัฏฏ์ หรือ วัฏฏะ (วนเวียน) ต่อท้ายด้วย ก็จะเป็นการท่องเที่ยววนเวียนไปด้วยอำนาจของกิเลส กรรม และวิบาก ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย สังสาระ หรือ สังสารวัฏฏ์ ก็คือขณะนี้ นั่นเอง 

พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับสังสาระ ที่ควรจะได้ศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม จาก ... พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ขีรสูตร มีดังนี้ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสาระ (สังสารวัฏฏ์) นี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนี้ดื่มแล้ว กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ อย่างไหนจะมากกว่ากัน?

 ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่า, น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.

พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกล่ะๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนาน ดื่มแล้วนั่นแหละมากว่า, น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สังสาระนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสาระ(สังสารวัฏฏ์)นี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดาโดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย  ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าสังสาระนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด  พอเพื่อจะหลุดพ้น  ดังนี้”

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย นิทานวรรค  มาตุสูตร)

สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่าเป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน, ธรรมในชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย) ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย เป็นอย่างนี้มานานแสนนานนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่งถึงปัจจุบันชาตินี้ และจะดำเนินต่อไปด้วย นี้คือ สังสาระ หรือสังสารวัฏฏ์

คำว่า สังสาระ หรือสังสารวัฏฏ์ ในอรรถกถาท่านได้แสดงไว้ ว่า "ลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะยังเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย ชื่อว่า สังสาระ" หมายถึง การท่องเที่ยวไป กล่าวคือ ท่องเที่ยวไปจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง หรือแม้กระทั่งจากจิตขณะหนึ่งไปสู่จิตอีกขณะหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่าเป็นสังสาระเช่นเดียวกัน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ นามธรรมและรูปธรรม ในขณะนี้เลย 

ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ความไม่รู้ อีกทั้งยังมีตัณหา ความติดข้อง ยินดีพอใจเป็นเครื่องผูกไว้ จึงยังมีการเกิดอยู่ร่ำไป ท่องเที่ยววนเวียนไป จากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้น ที่สุดของสังสารวัฏฏ์ย่อมไม่ปรากฏ ซึ่งแต่ละบุคคลก็ได้เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เคยเป็นมาแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพระราชา คนมั่งมี คนตกทุกข์ได้ยาก คนมีความสุข เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นต้น แต่ในชาตินี้ก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ด้วยผลของกุศลกรรม ซึ่งเป็นการได้ที่ได้แสนยาก ยิ่งเป็นการได้ที่ได้แสนยาก ด้วยกุะเกิดที่ไหน จังหวัดไหน ภาคไหน ก็ดีแล้วถ้าได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจสภาพธรรมไปทีละเล็กทีละน้อย อีกทั้งไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท กล่าวได้ว่า เป็นชีวิตที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง เป็นการสะสมเสบียงเครื่องเดินทางอย่างดีในสังสารวัฏฏ์ เพราะสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ คือ กุศลธรรม จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นคมกล้าขึ้นสามารถจะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่ต้องเดินทางไกลในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่ยาวไกลแสนไกลมาก แต่ก็สามารถเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ได้ตั้งแต่ในขณะนี้ สิ่งที่ลืมไม่ได้เลย คือ มีชีวิตอยู่ เพื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป  เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง  จนกว่ากิเลสทั้งปวงจะถูกดับหมดสิ้นไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ