[คำที่ ๒๔] สังเวช
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สํเวช”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า สํเวช (บางแห่งเป็น สํเวค มีความหมายอย่างเดียวกัน) เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก สํ บทหน้า (แปลว่า ด้วยดี) + วิช ธาตุ ลงในอรรถว่า รู้ แปลง อิ ที่ วิ เป็น เอ จึงรวมกันเป็น สํเวช แปลตามภาษาบาลีว่า รู้ด้วยดี ซึ่งจะเห็นไว้ว่า ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงคำว่า สังเวช แล้ว หมายถึงปัญญา (ตรงตามศัพท์ที่แปลว่า รู้ด้วยดี) ดังข้อความจากปรมัตถ-ทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ตอนหนึ่ง ว่า ญาณ (ปัญญา) ประกอบด้วยโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) ชื่อว่า ความสังเวช แต่แปลเป็นไทยแล้วนิยมแปลว่า สลด, สลดใจ, หรือไม่ก็แปลทับศัพท์เป็นสังเวช ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ จึงจะเข้าใจตามความเป็นจริงได้
พระธรรมเทศนาเกี่ยวกับสังเวช ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติมมีดังนี้
บทว่า ความสลดใจ นั้น มีคำอธิบายว่า ญาณอันเห็นชาติโดยความเป็นภัย ญาณอันเห็นชราโดยความเป็นภัย ญาณอันเห็นพยาธิโดยความเป็นภัย ญาณอันเห็นมรณะโดยความเป็นภัย.
บทว่า ความพยายามโดยแยบคาย ของบุคคลผู้มีใจสลดแล้ว คือ เป็นผู้ที่เห็นโทษภัยของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ผู้นั้นย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่จืดจาง เพื่อความเพิ่มพูน เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
(จาก ... อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์)
พระโพธิสัตว์ทุกองค์ เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายแ ละนักบวชเท่านั้น ก็ถึงความสังเวชแล้วออกบวช
(จาก ... มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทูตสูตร)
บทว่า สเวโค อุปฺปชฺชติ (ความสังเวชย่อมเกิดขึ้น) คือ ความสังเวช ในเพราะความปรวนแปรของสังขาร ย่อมเกิดขึ้น เพราะรู้แจ้งโทษของสังขารด้วยแสงสว่างคือญาณ
(จาก ... สัทธรรมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค)
คำว่า สังเวช (สลดใจ) หรือ สังเวคะ นั้น ที่เข้าใจกันในสังคมไทย กับ ที่เป็นความหมายจริงๆ ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความต่างกันที่ควรจะพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง
สังเวช (สลดใจ) ที่เข้าใจกันในสังคมไทย ส่วนใหญ่จะหมายถึงความหดหู่ใจ เศร้าใจ ซึ่งไม่ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง, ที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมนั้น สังเวช หรือสังเวคะ เป็นชื่อของปัญญา(ความเข้าใจถูกเห็นถูก) ที่เห็นโทษภัยตามความเป็นจริง ผู้ที่เกิดสลดสังเวช จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ แม้ว่าจะประสบพบเห็นกับเหตุการณ์อะไรก็ตาม สำหรับบุคคลผู้ที่มีปัญญาท่านเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่เตือนได้ว่าแม้เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น จึงไม่ควรที่จะประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เกิดเป็นมนุษย์อยู่ดีๆ แต่ถ้าอาศัยความประมาทเพียงนิดเดียว อาจจะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นได้ และไม่ควรประมาท ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสลดสังเวช ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของกุศล เป็นการถอยกลับจากอกุศล ไม่ใช่การเศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะขณะที่เศร้าโศกเสียใจ เป็นอกุศล เป็นสภาพจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส
เป็นความจริงที่ว่า ฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากเลย ชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) พยาธิ (ความเจ็บไข้ได้ป่วย) และ มรณะ (ความตาย) ควรที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสังเวช เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่า มีชาติเกิดขึ้นขณะใด สามารถพิจารณาได้เลยว่า ย่อมนำมาซึ่งชรา พยาธิ และมรณะอย่างแน่นอน บุคคลที่เกิดมาแล้ว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดมาแล้ว ที่จะไม่เก่าคร่ำคร่า ไม่ชราลง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และในที่สุดก็จะต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา
นี้คือความไม่เที่ยง ขณะที่สิ่งนั้นยังไม่เก่าคร่ำคร่า ก็เป็นสิ่งที่น่าดู น่าพอใจ แต่เมื่อถึงกาลเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องถึงในวันหนึ่ง คือ ความชรา ความไม่สะดวก ความไม่สบายกายทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ไม่เป็นที่น่ายินดี ก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีชาติ (ความเกิด) แล้ว ชรา พยาธิ และมรณะ ก็จะมีไม่ได้เลย
ในบรรดาบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าใครมีสติปัญญาที่จะพิจารณาตั้งแต่ยังไม่ชรา หรือยังไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีใครที่สามารถจะพ้นไปจากความแก่ ความเจ็บ และความตาย ได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมจะเกิดความพยายาม มีความเพียรที่จะทำให้ถึงการพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะถึง แต่ก็มีทางที่จะถึงได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อย ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เพราะกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับทุกคน
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ