[คำที่ ๒๖] สาวก

 
Sudhipong.U
วันที่  23 ก.พ. 2555
หมายเลข  32146
อ่าน  504

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  สาวก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า สาวก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มีรากศัพท์มาจาก สุ ธาตุ ลงในอรรถว่า ฟัง  + ณฺวุ ปัจจัย แปลง อุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อาว แล้วแปลง ณฺวุ เป็น อก จึงสำเร็จเป็น สาวก อ่านตามภาษาบาลีว่า สา - วะ - กะ แปลว่า ผู้ฟังพระธรรม, สาวก เริ่มตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยะ จนกระทั่งถึงสาวกที่เป็นพระอริยะ ล้วนเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ทั้งนั้น

ข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ใคร เป็นสาวก ใคร ไม่ใช่สาวก ดังนี้

“พระอริยะที่ไม่เป็นสาวก  ก็มี  เช่น  พระพุทธเจ้า  และ  พระปัจเจกพุทธเจ้า,  สาวกที่ไม่เป็นพระอริยะ ก็มี  เช่น  คฤหัสถ์ผู้ยังไม่บรรลุผล, ไม่เป็นทั้งพระอริยะ ไม่เป็นทั้งสาวก ก็มี  เช่น  พวกเดียรถีย์เป็นอันมาก,  เป็นทั้งพระอริยะ  เป็นทั้งสาวก ก็มี  เช่นพระสมณะศากยบุตร  ผู้บรรลุผล  รู้แจ้งคำสั่งสอน”

ตัวอย่างพระสาวก ซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม  ได้รับประโยชน์จากพระธรรม  มีดังนี้ .-

ในครั้งนั้น พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี เสด็จไปภัททิยนคร พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เพื่อจะทรงสงเคราะห์ภัททชิกุมาร ทรงคอยความแก่กล้าแห่งญาณ ของภัททชิกุมาร จึงประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน แม้ภัททชิกุมาร นั่งอยู่บนปราสาทชั้นบน เปิดหน้าต่างมองดู เห็นมหาชนเดินทางไปฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถามว่า  มหาชนกลุ่มนี้ไปที่ไหน? ทราบเหตุนั้นแล้ว แม้ตนเองก็ได้ไปสู่สำนักของพระศาสดา ด้วยบริวารเป็นอันมาก ฟังธรรมอยู่ ทั้งๆ ที่ประดับประดาไปด้วยอาภรณ์ทั้งปวง ยังกิเลสทั้งมวลให้สิ้นไป บรรลุพระอรหัตต์ (ความเป็นพระอรหันต์) แล้ว

(จาก ... ปรมัตถทีปนี อรรถกถา  ขุททกนิกาย  เถรคาถา  ภัททชิเถรคาถา)

ในวันหนึ่ง พระศาสดาเสด็จทรงบาตรเข้าไปในกรุงสาวัตถี ทรงเห็นพวกเด็กเป็นอันมาก  เอาไม้ตีงูเรือนตัวหนึ่งในระหว่างทาง จึงตรัสถามว่า “แน่ะ เจ้าเด็กทั้งหลาย พวกเจ้าทำอะไรกัน?” เมื่อเด็กเหล่านั้นกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์เอาไม้ตีงู พระเจ้าข้า” (พระองค์) ตรัสถามอีกว่า “เพราะเหตุไร?” เมื่อพวกเขากราบทูลว่า “เพราะกลัวมันกัด พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “พวกเจ้าตีงูนี้ด้วยคิดว่า จักทำความสุขแก่ตน จักไม่เป็นผู้ได้รับความสุขในที่ที่ตนเกิดแล้วๆ, แท้จริง บุคคลเมื่อปรารถนาสุขแก่ตน (แต่) ประหาร (ทำร้าย) สัตว์อื่น ย่อมไม่ควร” ดังนี้แล้ว ... จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

“สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข, บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยท่อนไม้ บุคคลนั้น ละ(จากโลกนี้)ไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข, สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ด้วยท่อนไม้ บุคคลนั้น ละไปแล้ว ย่อมได้สุข” ... ในเวลาจบเทศนา เด็กเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล(เป็นพระโสดาบัน) ดังนี้แล

(ข้อความบางตอนจาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่องเด็กหลายคน)

ท่านพระอุบาลีเถระ (พระอรหันต์ผู้เลิศในด้านทรงพระวินัย) ได้กล่าวไว้ว่า ชายผู้กล้าหาญ ถูกยาเบื่อ เขาจะเสาะแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ ที่จะแก้ยาเบื่อรักษาชีวิตไว้ เมื่อแสวงหา ก็จะพบยาขนานศักดิ์สิทธิ์ที่แก้ยาเบื่อได้ ครั้นดื่มยานั้นแล้วก็จะสบาย เพราะรอดพ้นไปจากพิษยาเบื่อ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเหมือนนรชนผู้ถูกยาเบื่อ ถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว ต้องแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ คือ พระสัทธรรม เมื่อแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ คือ พระธรรม ก็ได้พบคำสั่งสอนของพระศากยมุนี คำสั่งสอนนั้นล้ำเลิศกว่าโอสถทุกอย่าง บรรเทาลูกศร (คือกิเลส) ทั้งมวลได้ ครั้นดื่มธรรมโอสถที่ถอนพิษทุกอย่างได้แล้ว ข้าพระองค์ก็สัมผัสพระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย มีภาวะเยือกเย็น

(จาก... ปรมัตถทีปนี  อรรถกถา  ขุททกนิกาย  เถรคาถา อุบาลีเถรคาถา)


ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีโสตปสาทะ(หู) แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ได้ยินเสียงต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นเหตุนำมาซึ่งความติดข้องยินดีพอใจบ้าง ขัดเคืองไม่พอใจบ้าง ตามการสะสม ซึ่งเป็นไปกับกุศล แต่มีอยู่เสียงหนึ่ง ที่เมื่อได้ฟังแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา นั่นก็คือ เสียงของพระธรรม เพราะฉะนั้น ในเมื่อจะได้ฟังเสียงอยู่แล้ว ก็ควรที่จะได้ฟังเสียงที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ ฟังเสียงของพระธรรม  ซึ่งก็คือ ฟังพระธรรม นั่นเอง 

การฟังพระธรรม เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น บุคคลผู้เป็นสาวกต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม และจะต้องเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ เจริญขึ้นได้  ต้องอาศัยการฟังพระธรรม  ศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียด รอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย

ขณะที่ฟังพระธรรมด้วยความตั้งใจ และมีความเข้าใจไปตามลำดับ  ย่อมเห็นสมบัติของตนเองจากการฟังพระธรรม ซึ่งเป็นสมบัติที่แท้จริง  ประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติทั้งหลายที่มี ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้ด้วย นั่นก็คือ ได้สะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก, สมบัติทั้งหลายที่มี ไม่ว่าจะเป็นแก้ว แหวน เงิน ทอง เครื่องอุปโภค บริโภคทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย ถ้าเว้นจากการฟังพระธรรมเสียแล้ว การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของพระสาวกทั้งหลายก็จะมีไม่ได้เลย การฟังพระธรรม การเข้าใจพระธรรมเท่านั้น เป็นเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ดังข้อความบางส่วนจากพระไตรปิฎกที่ยกมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการได้ฟังพระธรรม ในฐานะที่เป็นสาวกอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น  จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะเห็นประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม  ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ด้วยความอดทนและจริงใจ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งๆ ขึ้นไป ข้อความที่ควรจะเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับตนเองอยู่เสมอ คือ ก่อนที่จะหายจากโลกนี้ไป ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่?


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ