[คำที่ ๒๗] อธิษฐาน

 
Sudhipong.U
วันที่  1 มี.ค. 2555
หมายเลข  32147
อ่าน  1,408

คำบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อธิฏฺฐาน

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า อธิฏฺฐาน เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจากคำว่า อธิ (มั่น) + ฐาน (ที่ตั้ง,ตั้ง) ซ้อน ฏฺ จึงรวมกันเป็น อธิฏฺฐาน (อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - ทิด - ถา - นะ) เขียนเป็นคำไทยได้ว่า อธิษฐาน (อ่านว่า อะ - ทิด - ถาน) แปลว่า ความตั้งใจมั่น ความมั่นคง ความตั้งมั่น ดังข้อความจาก สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ตอนหนึ่ง ว่า เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว อธิษฐาน ก็มีความหมายว่า เป็นเหตุตั้งอยู่ เป็นที่ตั้งอยู่ของคุณธรรม หรือว่า เป็นฐานะ คือ เป็นความตั้งใจมั่นของคนที่สร้างสมคุณนั้นๆ

พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับอธิฏฐาน (อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น) ที่ควรจะได้ศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม มีดังนี้ .-

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอธิฏฐาน ๔ ประการ ได้แก่

๑. ปัญญาธิฏฐาน อธิษฐาน คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก)

๒. สัจจาธิฏฐาน อธิษฐาน คือ สัจจะ (ความจริงใจ)

๓. จาคาธิฏฐาน อธิษฐาน คือ จาคะ (การสละกิเลส)

๔. อุปสมาธิฏฐาน อธิษฐาน คือ อุปสมะ (ความสงบจากกิเลส)

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร)

การตั้งใจสมาทาน (ถือเอาด้วยดี) ไม่หวั่นไหวในธรรมอันไม่มีโทษ เป็นอธิษฐานบารมี

(จาก ...ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก)


ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐาน ในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะเจริญกุศลสะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน อธิษฐานจึงเป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลมากกว่ากุศล ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์  ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ มั่นคงจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นขอ อยากได้ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ (ความติดข้องต้องการ) ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอธิฏฐาน (อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น) ๔ ประการ ได้แก่

ปัญญาธิฏฐาน ความตั้งใจมั่นที่ประกอบด้วยปัญญา มีความเข้าใจถูกต้อง เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง จึงเว้นในสิ่งที่ควรเว้น กระทำในสิ่งที่ควรกระทำ มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตให้ออกห่างจากอกุศล แม้แต่ในขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นปัญญาธิฎฐาน เป็นการตั้งมั่นด้วยปัญญาแล้วในขณะนั้น 

สัจจาธิฏฐาน ความตั้งใจมั่นที่จะเป็นผู้มีความจริงใจ เป็นผู้ตรงทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยกุศลธรรม เป็นผู้จริงใจ เจริญกุศลเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองเป็นสำคัญ แม้ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ

จาคาธิฏฐาน ความตั้งใจมั่นที่จะสละกิเลส จะสละกิเลสได้ ก็ด้วยการเจริญกุศล ขณะที่กุศลเกิดขึ้น เป็นการสละกิเลส กล่าวคือ โลภะ โทสะ  โมหะ เป็นต้นแล้ว เพราะเหตุว่าในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ กิเลสเกิดไม่ได้ แม้ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เป็นการสละกิเลส สละความไม่รู้และความเห็นผิด เป็นต้น

อุปสมาธิฏฐาน ความตั้งใจมั่นที่จะสงบจากกิเลส ธรรมที่ตรงกันข้ามกับกุศล คือ กิเลสประการต่างๆ  เป็นธรรมที่ทำให้จิตไม่สงบ เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เห็นโทษของอกุศลและเห็นคุณของกุศลในชีวิตประจำวัน จึงมีความตั้งใจมั่นที่จะเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อสงบจากกิเลสไปตามลำดับ

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อธิษฐาน ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นความตั้งใจมั่นไม่หวั่นไหว อันเป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นไปในธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นการตั้งใจมั่นในการเจริญกุศลทุกประการ เพราะเห็นโทษของอกุศลและเห็นคุณของกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่ากิเลสทั้งปวงจะดับหมดสิ้นไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
deejungja
วันที่ 21 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ