[คำที่ ๒๘] เจตสิก
คำบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เจตสิก”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า เจตสิก เป็นคำภาษาบาลี มาจากคำว่า เจตสิ (จิต,ใจ) + ก (มีค่าเท่ากับ นิยุตฺต แปลว่า ประกอบ) จึงรวมกันเป็น เจตสิก (อ่านตามภาษาบาลีว่า เจ - ตะ - สิ - กะ) อ่านตามภาษาไทยว่า เจ - ตะ - สิก แปลว่า สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต ดังข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ตอนหนึ่งว่า สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต โดยไม่พรากจากกัน ชื่อว่า เจตสิก
ธรรมที่เป็นเจตสิก เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มีดังนี้ .-ธรรมเป็นเจตสิก เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต มีผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ เจตนา ความจงใจ เป็นต้น) สภาพธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นเจตสิก
(จาก ... พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์)
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลสัตว์โลกให้ได้เข้าใจธรรมตามพระองค์ ด้วย จึงทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนา ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว พระธรรมคำสอนทั้งหมดพระองค์ทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเมื่อจะกล่าวให้สั้นกว่านั้น คือ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม และ สั้นที่สุด คือ ธรรม นั่นเอง ธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง แม้ไม่เรียกชื่อ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ แต่ต้องใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงธรรมอะไร อันจะเป็นเครื่องส่องให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง
เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า ธาตุรู้ หรือ สภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อย่างแรก เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ จิต) และ อย่างที่สอง คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย ได้แก่ เจตสิก ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ (ความโลภ,ความติดข้องต้องการ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ(ความไม่รู้) ศรัทธา (ความเลื่อมใส,ความผ่องใสแห่งจิต) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม) ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) วิริยะ(ความเพียร) อโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความไม่โกรธ) สัญญา (ความจำ) เวทนา (ความรู้สึก) เป็นต้น เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยังยืน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครทำอะไรเลย เพราะมีแต่สภาพธรรมกล่าวคือ จิต และ เจตสิก เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้นจริงๆ
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต (สำหรับในภูมิที่มีแต่นามธรรม ไม่มีรูปธรรม คือ ในอรูปพรหมภูมิ จิต และเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น) ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามควรแก่ประเภทของจิตนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็จะมีอกุศลเจตสิก เช่น อหิริกะ(ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ(ความไม่เกรงกลัวต่อโทษภัยของอกุศล) อุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบแห่งจิต) โมหะ (ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นกุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ก็จะมีเจตสิกฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (ความเลื่อมใส,ความผ่องใสแห่งจิต) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อโทษภัยของอกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่สาวกผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเจตสิกเป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตนที่แทรกอยู่ในเจตสิกแต่ละประเภทเลย
ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ธรรม เป็นเรื่องยาก ต้องตั้งใจฟังตั้งใจศึกษาด้วยความอดทนและจริงใจ ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ