[คำที่ ๒๙] มงคล

 
Sudhipong.U
วันที่  15 มี.ค. 2555
หมายเลข  32149
อ่าน  626

ภาษาบาลี ๑  คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "มงฺคล"

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า มงฺคล เป็นคำภาษาบาลี  มีรากศัพท์มาจากคำว่า มคิ ธาตุ ลงในอรรถว่า ไป,เป็นไป,ถึง  ลงนิคหิต ที่ ม  เป็น  มํ  ลง อล ปัจจัย แปลง นิคหิต เป็น งฺ  จึงสำเร็จรูป เป็น มงฺคล  อ่านตามภาษาบาลีว่า มัง - คะ - ละ อ่านตามภาษาไทยว่า มง - คน แปลว่า เหตุให้ถึงความเจริญ  เหตุแห่งความเจริญ ดังข้อความบางตอนจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททนิกาย สุตตนิบาต มงคลสูตร ว่า “บทว่า มงฺคลํ ได้แก่ เหตุแห่งความสำเร็จ เหตุแห่งความเจริญ เหตุแห่งสมบัติทุกอย่าง” ซึ่งไม่พ้นไปจากความดี ทุกประการเลย จนกระทั่งถึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น

มงคล ๓๘ ประการ  มีดังนี้  ๑. การไม่คบคนพาล  ๒. การคบแต่บัณฑิต  ๓. การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๔. การอยู่ในประเทศอันสมควร ๕. ความเป็นผู้ทำบุญไว้แต่ปางก่อน  ๖. การตั้งตนไว้ชอบ  ๗. ความเป็นพหูสูต (สดับตรับฟังพระธรรม) ๘. ความเป็นผู้มีศิลปะ ๙.  มีวินัยที่ศึกษามาดี  ๑๐. มีวาจาเป็นสุภาษิต  ๑๑. การบำรุงมารดา  ๑๒. การบำรุงบิดา ๑๓. การสงเคราะห์บุตรภริยา ๑๔. การงานอันไม่อากูล (คือ ไม่คั่งค้าง) ๑๕. ทาน ๑๖. ธรรมจริยา(การประพฤติธรรม) ๑๗. การสงเคราะห์ญาติ ๑๘. การงานอันไม่มีโทษ ๑๙. การงดเว้นจากบาป ๒๐. การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา  ๒๑. ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๒๒. ความเคารพ ๒๓.  ความถ่อมตน ๒๔.  ความสันโดษ ๒๕. ความกตัญญู  ๒๖. การฟังธรรมตามกาล  ๒๗. ความอดทน ๒๘. ความเป็นผู้ว่าง่าย ๒๙. การเห็นสมณะ ๓๐. การสนทนาธรรมตามกาล ๓๑. ตบะ (ธรรมเครื่องเผากิเลส) ๓๒. พรหมจรรย์ (ความประพฤติที่ประเสริฐ) ๓๓. การเห็นอริยสัจจ์ ๓๔. การทำพระนิพพานให้แจ้ง ๓๕. จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว ๓๖. จิตไม่เศร้าโศก ๓๗. จิตไม่เศร้าหมองด้วยละอองกิเลส ๓๘. จิตเกษมปลอดโปร่ง

(ข้อความโดยสรุปจาก ... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต  มงคลสูตร)

มงคลทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ดังที่ปรากฏในมงคลสูตร มงคลสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการถาม กล่าวคือ วันหนึ่ง เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไป ได้มีเทวดาตนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระวิหารเชตวัน และได้ทูลถามพระองค์ถึงเรื่องมงคลทั้งหลายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก่อนที่เทวดาตนนั้นจะทูลถาม ท่านก็ได้กราบทูลถึงเหตุที่มาทูลถามว่า ได้เกิดความโกลาหลขึ้น ทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์ที่มีความเห็นในเรื่องมงคลที่แตกต่างกัน เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกัน ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นมงคลที่แท้จริง เรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ในที่สุดท้าวสักกะจึงได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้มาทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงแสดงมงคล (เหตุแห่งความเจริญ) รวม ๓๘ ประการ มีการไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นต้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมงคลสูตรจบลง เทวดาแสนโกฏิบรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนจำนวนของผู้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี นั้น นับไม่ได้

ในวันต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่เทวดาถามเรื่องมงคลและพระองค์ได้แสดงมงคล ๓๘ ประการ ให้แก่ท่านพระอานนท์ได้ฟัง พร้อมทั้งให้ท่านพระอานนท์เรียนมงคล ๓๘  ประการนี้ แล้วให้นำไปสอนแก่พระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้มงคลสูตร  สืบทอดมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้

เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ได้อ่านเรื่องมงคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จำได้หมดทุกมงคลหรือไม่? บางคนอาจจะท่องมงคลได้ทั้งหมด ๓๘ ประการ แต่มงคลไม่ใช่สำหรับท่อง และไม่ใช่สำหรับจำ แต่สำหรับอบรมเจริญ เพื่อความเจริญขึ้นซึ่งเป็นมงคลแต่ละข้อ มงคลหมายถึงเหตุแห่งความเจริญ หรือ สิ่งที่จะทำให้ถึงซึ่งความเจริญ เมื่อจะกล่าวโดยสรุปแล้ว มงคลหมายถึง ความดีทุกอย่างทุกประการ นั่นเอง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ไม่ดีจะนำมาซึ่งผลที่ดีไม่ได้ ผลย่อมตรงกับเหตุ ถ้าเหตุไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี แต่ถ้าเหตุดี ผลก็ต้องดี ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่ทราบเลยว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล แม้แต่ในขณะนี้เอง

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต กว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก มงคลแต่ละข้อ ก็มาจากการตรัสรู้ของพระองค์  ดังนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงเป็นมงคลประการหนึ่งด้วย ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง แต่มงคลมีมากมาย ไม่ใช่เพียงการฟังธรรม เท่านั้น เริ่มตั้งแต่การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นต้น ล้วนเป็นมงคลอันประเสริฐทั้งสิ้น

บุคคลผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม จะเป็นผู้ถึงความเจริญด้วยปัญญาไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าความเจริญจริงๆ ไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุ หรือความเพิ่มมากขึ้นของความโลภ ความติดข้อง ต้องการ การแสวงหาในสิ่งที่คิดว่าน่าปรารถนา คือ ลาภ ยศ สักการะ  สรรเสริญ สุข แต่ความเจริญจริงๆ เป็นความเจริญของจิต ซึ่งเริ่มมีปัญญาที่เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเลย อะไรที่เจริญ อะไรที่มีมากขึ้น? ย่อมเป็นความไม่รู้ และ กุศลต่างๆ ที่เกิดเพิ่มมากขึ้น นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ตลอดชีวิต ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง เพื่อรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เพื่อที่จะได้ละความไม่รู้  และเพื่อความรู้และความเจริญในคุณธรรมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ต่อไป เพราะความดีทุกประการนั้น เป็นมงคล


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ