[คำที่ ๓o] อวิชชา

 
Sudhipong.U
วันที่  22 มี.ค. 2555
หมายเลข  32150
อ่าน  1,120

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อวิชฺชา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า อวิชฺชา เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก น (ไม่) + วิท  ธาตุ  ลงในอรรถว่า รู้  + ย ปัจจัย + อา สระที่สุดศัพท์ แปลง น  เป็น อ แปลง ทย เป็น ช แล้ว ซ้อน ชฺ จึงสำเร็จรูปเป็น อวิชฺชา (อ่านว่า  อะ  -  วิด  -  ชา) แปลว่า ความไม่รู้ ได้แก่ ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ มีทุกขสัจจะ เป็นต้น ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อวิชชาสูตร ตอนหนึ่ง ว่า “ดูก่อนภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์  ในเหตุให้เกิดทุกข์  ในความดับทุกข์  ในหนทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์  นี้เรียกว่าอวิชชา”

พระธรรมเทศนา เกี่ยวกับอวิชชา ที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติมจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ โมหสูตร มีดังนี้  .-

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถา ว่า ธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุ ให้หมู่สัตว์ถูกธรรมนั้นหุ้มห่อแล้ว ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน เหมือนหมู่สัตว์ผู้ถูกโมหะหุ้มห่อแล้ว ไม่มีเลย ส่วนพระอริยสาวกเหล่าใด ละโมหะแล้ว ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว พระอริยสาวก เหล่านั้น ย่อมไม่ท่องเที่ยวไปอีก เพราะอวิชชาอันเป็นต้นเหตุ (แห่งสังสารวัฏฏ์) ย่อมไม่มีแก่พระอริยสาวกเหล่านั้น

“โมหะ ทำให้เกิดความพินาศ โมหะทำจิตให้กำเริบ ชนย่อมไม่รู้สึกโมหะนั้นอันเกิดในภายในว่าเป็นภัย คนหลง ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โมหะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อ ย่อมมีในขณะนั้น บุคคลใดละโมหะได้ขาด ย่อมไม่หลง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง บุคคลนั้น ย่อมกำจัดความหลงได้ทั้งหมด เปรียบเหมือนพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ก็กำจัดความมืด ฉะนั้น”

 (จาก ... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ  มลสูตร)


 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม โดยทรงใช้พยัญชนะที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดก็เพื่อส่องให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่าที่ทรงแสดงนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สำหรับโมหะ กับ อวิชชา ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น ความไม่รู้ ก็คือ ความไม่รู้ ถึงแม้ว่าจะใช้พยัญชนะที่แตกต่างกันก็ตาม แตกต่างกันโดยพยัญชนะ แต่อรรถเป็นอย่างเดียวกัน

โมหะ กับ อวิชชา เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ความจริง เป็นเจตสิกประการหนึ่ง คือ โมหเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับกุศลจิตทุกประเภท จะเห็นได้ว่า อกุศลจิตทุกประเภท เกิดเพราะโมหะ หรือ อวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลอะไรในชีวิต เป็นต้น, สาเหตุหลักที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะยังมีโมหะอยู่นั่นเอง เป็นสภาพธรรมที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริงก็มืดมน ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้

ในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้นแล้ว อวิชชา จึงเกิดกับขณะจิตมากมายอย่างนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ให้เบาบางลงได้ คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต นั่นก็คือ การฟังพระธรรม 

ควรอย่างยิ่งที่จะได้พิจารณาว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ในที่สุดก็จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่จะตายไปพร้อมกับความไม่รู้ หรือจะตายไปพร้อมกับได้สะสมความรู้ความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น? ถ้าไม่ได้สะสมปัญญา ไม่ได้เข้าใจพระธรรมเลย ก็น่าเสียดายมาก ที่จะต้องตายไปพร้อมกับความไม่รู้ และจะเป็นผู้ไม่รู้อีกต่อไป เต็มไปด้วยกิเลสมากมาย ยากที่จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ได้สะสมศรัทธาที่จะฟังพระธรรม ค่อยๆ  สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย บุคคลประเภทนี้เป็นผู้ดำรงชีวิตอย่างมีค่า ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียดายหรือเสียใจในภายหลัง เพราะยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับชีวิต แม้ปัญญาจะยังไม่มาก แต่ถ้าไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษา ไม่ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องทำลายความมืดคืออวิชชา (ความไม่รู้) ได้ในที่สุด  เพราะจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพื่อละคลายความไม่รู้ จนกว่าความไม่รู้ จะไม่เกิดขึ้นอีก


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ