[คำที่ ๓๑] โลภะ

 
Sudhipong.U
วันที่  29 มี.ค. 2555
หมายเลข  32151
อ่าน  1,289

ภาษาบาลีวันละคำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “โลภ ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า โลภ  เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก ลุภ ธาตุ ลงในอรรถว่า อยากได้, ติดข้อง, ต้องการ แปลง อุ ที่ ลุ เป็น โอ จึงสำเร็จรูป เป็นโลภ (อ่านออกเสียงตามภาษาบาลี ว่า โล - ภะ)  แปลว่า ความติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจ อยากได้ หรือแปลทับศัพท์ว่า โลภะ, ความโลภ ซึ่งเป็นคำที่ส่องให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับโลภะจนหมดสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยโลภะก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม หน้าที่ของโลภะ คือ ติดข้อง ไม่สละซึ่งสิ่งนั้น

พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวโลภะ ที่ควรจะได้ศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม มีดังนี้ .-

โลภะ  มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?  การโลภ กิริยาที่โลภ ความโลภ การกำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ความกำหนัด   ความเพ่งเล็ง กุศลมูลคือโลภะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าโลภะมีในสมัยนั้น

ข้อความบางตอนจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์


พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามชนชาวกาลามะ ว่า ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โลภะความอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือว่า เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์?”

ชนชาวกาลามะ กราบทูลว่า  โลภะนั้น  ย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสถามต่อไปว่า  บุรุษผู้โลภแล้ว อันความโลภครอบงำแล้ว มีใจอันความโลภยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ถึงภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์  เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น  สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภแล้ว ย่อมชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น อันนี้จริงหรือไม่?

ชนชาวกาลามะ  กราบทูลว่า   ข้อนี้   จริงอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า

จาก ... พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต  เกสปุตตสูตร


“โลภะ ก่อให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”

จาก... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ  มลสูตร


พระโพธิสัตว์ ตรัสกับพระนางอุทัยภัทรา ว่า “พื้นแผ่นดินทั้งสิ้น เต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าพึงเป็นของสำหรับพระราชาพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นครอบครอง ถึงกระนั้น ผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัด(ความยินดีพอใจ) ก็ต้องทิ้งสมบัตินั้นไป

จาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก อุทยชาดก


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง เตือนให้ได้เข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม หนีไม่พ้นไปจากธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แม้แต่โลภะก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความติดข้อง ยินดีพอใจ ซึ่งเป็นกุศลธรรมประการหนึ่ง ไม่ว่าจะติดข้องในอะไร หรือเกิดกับใคร ก็เป็นโลภะ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ โลภะเกิดเมื่อใดก็ผูกพันกับสิ่งนั้น ไม่ให้จิตเป็นกุศล และผูกพันไว้ในสังสารวัฏฏ์  โลภะมีหลายระดับขั้น กล่าวคือ มีทั้งโลภะที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และโลภะที่มีกำลังมาก หรือโลภะเกินประมาณ ถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น

จากข้อความในอุทยชาดกที่ได้ยกมานั้น เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคนว่า เราเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่? ความต้องการในทรัพย์ มีขีดขั้นจำกัดหรือไม่? หรือได้มาแล้วก็ยังไม่พออีก    จนกระทั่งเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความยินดีความต้องการในทรัพย์สมบัตินั้น ถึงแม้ว่าจะได้ครองโลก คือพื้นแผ่นดินทั้งสิ้น ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ และเป็นของบุคคลนั้นเพียงคนเดียว ไม่มีคนอื่นครอบครองด้วย ก็ยังไม่หมดความปรารถนา ยังไม่หมดความต้องการ บุคคลนั้นก็จะต้องทิ้งทรัพย์สมบัตินั้นไปด้วยความตาย ทั้ง ๆ ที่ยังพอใจอยู่ ไม่สามารถที่จะครอบครองได้ตลอดไป   

บุคคลผู้ที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเห็นความลึกซึ้ง เห็นความเหนียวแน่นของความยินดีพอใจ ซึ่งมีในทุกๆ วันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก    ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความพอใจในทรัพย์ ความพอใจในบุคคล ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รักนั้น ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในภพหนึ่งๆ ถ้าสามารถที่จะระลึกถอยไปได้ ก็จะเห็นได้ว่าความพอใจในสัตว์บุคคล ในญาติพี่น้อง ในมิตรสหาย ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รัก ในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแล้ว ย่อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงควรที่จะพิจารณาโดยละเอียดว่า โลภะจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกได้ไหม?     โลภะในวันนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่เคยได้สะสมโลภะมาเลย นี้แหละคือความเหนียวแน่นของกุศลที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์

จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เพิ่มขึ้นจากภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง เรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดจริงๆ ตามลำดับขั้น โลภะไม่มีทางที่จะหมดไปได้โดยวิธีอื่น แต่จะหมดไปได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา “ที่ใดมีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ” เพราะเหตุว่า กิเลสทั้งหลายทั้งปวง จะถูกดับได้ด้วยปัญญา เท่านั้น ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ