[คำที่ ๓๓] สุวจ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 เม.ย. 2555
หมายเลข  32153
อ่าน  514

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สุวจ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า สุวจ เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก สุ (โดยง่าย) วจ ธาตุ ลงในอรรถว่า ว่ากล่าว รวมกันเป็น สุวจ (อ่านตามภาษาบาลีว่า สุ - วะ-  จะ) แปลว่า บุคคลผู้อันผู้อื่นพึงว่ากล่าวได้โดยง่าย แปลให้สั้นว่า ผู้ว่าง่าย มีลักษณะตรงกันข้ามกับบุคคลผู้ว่ายากอย่างสิ้นเชิง ดังข้อความจากปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัลเลขสูตร ตอนหนึ่งว่า “คำว่า เป็นผู้ว่ายาก ความว่า เป็นผู้ยากที่จะว่ากล่าวได้ คือ ถูกว่าอะไรเข้าแล้วทนไม่ได้ เหล่าชนผู้ตรงกันข้ามกับคนว่ายากนั้น ชื่อว่าเป็นคนว่าง่าย” คำว่า สุวจ นี้ ไม่ค่อยจะคุ้นกันนักในภาษาไทย แต่เมื่อแปลเป็นไทยแล้ว มีอรรถที่ลึกซึ้งมาก และเป็นพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา อีกด้วย

พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับความเป็นผู้ว่าง่าย  ที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติม มีดังนี้

ก็บุคคลใดถูกท่านว่ากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำข้อนี้ ก็พูดว่าท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราจึงพูด เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เพื่อนเห็น เพื่อนคบหรือ หรือเบียดเบียนผู้นั้นด้วยความนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ยังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ

ส่วนผู้ใดถูกท่านโอวาทก็กล่าวว่า "ดีละ ท่านขอรับ ท่านพูดดี ขึ้นชื่อว่าโทษของตนเป็นของเห็นได้ยาก ท่านเห็นกระผมเป็นอย่างนี้ โปรดอาศัยความเอ็นดูว่ากล่าวอีกเถิด กระผมไม่ได้รับโอวาทจากสำนักท่านเสียนาน" แล้วปฏิบัติตามที่ท่านสอน ผู้นั้น ชื่อว่าอยู่ไม่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของผู้อื่นแล้วกระทำอย่างนี้ พึงชื่อว่า เป็นผู้ว่าง่าย

(จาก...  ปรมัตถโชติกา  อรรถกถา  ขุททนิกาย  ขุททกปาฐะ  เมตตสูตร)

พระสารีบุตรเถระพาท่านพระราธะ(ผู้บวชเมื่อแก่) หลีกไปสู่ที่จาริกแล้ว กล่าวสอน พร่ำสอนท่านเนืองๆ ว่า "สิ่งนี้ คุณควรทำ, สิ่งนี้ คุณไม่ควรทำ" เป็นต้น. ท่านพระราธะได้เป็นผู้ว่าง่าย มีปกติรับเอาโอวาทโดยเคารพแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปฏิบัติตามคำที่พระเถระพร่ำสอนอยู่โดย ๒-๓  วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว (เป็นพระอรหันต์). พระเถระ พาท่านไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคม นั่งแล้ว.

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกะท่านแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร อันเตวาสิก (ลูกศิษย์) ของเธอ เป็นผู้ว่าง่าย แลหรือ?พระสารีบุตรเถระ กราบทูลว่าอย่างนั้นพระเจ้าข้า เธอเป็นผู้ว่าง่ายเหลือเกิน เมื่อโทษไรๆ ที่ข้าพระองค์แม้กล่าวสอนอยู่ ไม่เคยโกรธเลย...ฯลฯ...

(ข้อความบางตอนจาก ...   พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย   คาถาธรรมบท  เรื่องพระราธเถระ)


พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับพร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เป็นพุทธสาวกหรือเป็นพุทธบริษัท นอกจากจะเป็นผู้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ก็ไม่ใช่เพียงฟังเท่านั้น ยังจะต้องเป็นบุคคลผู้ว่าง่าย คือ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในพระโอวาทของพระองค์ ด้วยการน้อมประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลสของตนเองในชีวิตประจำวันด้วยความจริงใจอีกด้วย จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง ตัวอย่างของบุคคลผู้ว่าง่ายที่ยกมาเป็นตัวอย่าง คือ พระราธเถระ ผู้บวชเมื่อแก่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร ทำให้เห็นถึงความเป็นผู้ว่าง่ายอย่างชัดเจน และควรที่จะประพฤติปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง ผลจากการฟังพระธรรมโดยความเคารพ ว่าง่ายต่อคำสอน ทำให้พระราธะจากที่เป็นปุถุชนเมื่อได้รับฟังคำพร่ำสอนอันเป็นโอวาทของท่านพระสารีบุตรผู้เป็นพระอรหันต์ โดยที่ท่านรับฟังและปฏิบัติตามด้วยความเคารพ จนในที่สุดก็สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นเช่นเดียวกันกับท่านพระสารีบุตร นี้เป็นผลของความเป็นผู้ว่าง่าย

อีกประการหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณาเพื่อเป็นเครื่องเตือนตนเอง คือ บุคคลผู้ที่ฉลาดย่อมหากุศลของคนอื่นเพื่อจะได้อนุโมทนา (ยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ) และหาโทษของตนเองเพื่อจะได้ขัดเกลา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่ฉลาดก็จะตรงกันข้ามกัน คือ หากุศลของตนเองและหาโทษของบุคคลอื่น ขณะที่หาโทษของบุคคลอื่นกุศลก็เกิดขึ้น ขณะที่หากุศลของตนเองขณะนั้นก็อาจจะเกิดความทะนงตน ความสำคัญตนได้ ซึ่งเป็นกุศล เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดจริงๆ ย่อมหาโทษของตนเองว่ามีโทษอะไรบ้าง ที่คนอื่นอาจจะไม่เห็นอาจจะไม่รู้ ตนเองเท่านั้นที่จะรู้ดี และในขณะเดียวกันที่มีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ก็หากุศลของคนอื่นเพื่อจะได้อนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ   เพราะเหตุว่าขณะที่อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น ก็เป็นกุศล เป็นความดี และเมื่อเห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษตามความเป็นจริง ก็จะได้ขัดเกลาละโทษนั้นยิ่งขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องอาศัยความเป็นผู้ว่าง่าย (ไม่ใช่ว่ายาก) ต่อคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจะทำให้เป็นผู้มีความเจริญในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปได้


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ