[คำที่ ๓๔] มท

 
Sudhipong.U
วันที่  19 เม.ย. 2555
หมายเลข  32154
อ่าน  550

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มท

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า มท เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจาก มท ธาตุ ลงในอรรถว่า มัวเมา, เมา + อ  ปัจจัย จึงสำเร็จรูปเป็น มท (อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - ทะ) แปลว่า ความมัวเมา หรือ ความเมา ความมัวเมานี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ขณะที่มัวเมา ไม่พ้นไปจากขณะที่เป็นอกุศล ดังข้อความจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ธรรมทายาทสูตร ว่า

“มทะ มีลักษณะเฉพาะ คือความมัวเมา มีหน้าที่คือความยึดถือด้วยการมัวเมา และผลที่ปรากฏออกมาคือความคลั่งไคล้” เป็นไปกับด้วยอกุศล ขณะนั้นกุศลเกิดไม่ได้ และยังจะเป็นเหตุให้กุศลเกิดเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

พระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเตือนเกี่ยวกับเรื่องความมัวเมา ที่ควรจะได้ศึกษาเพิ่มเติม มีว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมา ๓ ประการนี้ ๓ ประการคืออะไร? คือ ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ๑ ความมัวเมาในความไม่มีโรค ๑ ความมัวเมาในชีวิต ๑ ปุถุชนผู้มิได้สดับ ที่มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวก็ดี มัวเมาในความไม่มีโรคก็ดี และมัวเมาในชีวิตก็ดี ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ปุถุชนนั้น ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจแล้ว เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

(ข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สุขุมาลสูตร)


จากสุขุมาลสูตรนี้ ผู้ศึกษาพระธรรมก็พอจะเปรียบเทียบได้ว่า ความมัวเมา ๓ ประการที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงนี้ เป็นความจริงเพียงใด เช่น บุคคลที่มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ก็ไม่ได้คิดว่า จะต้องถึงความแก่ความชรา แต่ตามความเป็นจริงแล้วการที่จะไปถึงความแก่ ความชรานี้ ก็คือทุกขณะที่ล่วงไป นั่นเอง เพราะฉะนั้น การเห็นความชราในตนเอง หรือว่าในบุคคลอื่น ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่จะทำให้เห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่จริง ซึ่งไม่มีใครที่จะพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะหมกมุ่นเพลิดเพลินมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว จนกระทั่งไม่คิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระในชีวิต เพราะเหตุว่าถ้าจะให้รอไปจนถึงแก่เฒ่าเสียก่อน แล้วจึงจะศึกษาพระธรรมบ้างหรือปฏิบัติธรรมบ้าง เวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ นี้ก็จะเป็นการเพิ่มพูนกิเลสให้ยิ่งขึ้น ทำให้การละคลายขัดเกลากิเลสยิ่งยากขึ้น

สำหรับความมัวเมาในความไม่มีโรค ถ้าขณะนี้ท่านยังไม่มีโรค ก็ลองคิดดูว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีความมัวเมาในความไม่มีโรคในขณะนี้บ้างหรือไม่? เพราะว่าไม่มีใครทราบแน่เลยว่า โรคทั้งหลายจะเกิดกับท่านเมื่อใด ขณะใด เช่นเดียวกับโรคที่เกิดกับบุคคลอื่นที่กำลังเกิดอยู่ ซึ่งก่อนหน้านั้นบุคคลนั้นก็ไม่คิดว่า จะต้องเป็นโรคอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ท่านกำลังเป็นผู้ที่ไม่มีโรค ก็ควรอบรมเจริญปัญญา เตรียมพร้อมที่จะผจญกับโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดกับท่านก็ได้ เพราะเหตุว่าบางคนเวลาที่มีโรคเกิดขึ้นก็คร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์กระวนกระวาย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ นามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

และสำหรับความมัวเมาในชีวิต ก็เป็นเรื่องที่เป็นปกติอยู่เสมอทีเดียวสำหรับผู้ที่ไม่ได้ระลึกเลยว่า ความตายใกล้ที่สุด อาจจะเกิดขึ้นขณะหนึ่งขณะใดได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา      ไม่คิดถึงว่า จะต้องเป็นผู้ที่จะถึงแก่ความตาย จะเร็วหรือช้าก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน   ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้บ้างเลย วันหนึ่ง ๆ ก็ผ่านไปโดยการที่ท่านไม่ได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น   เพราะเหตุว่าเรื่องของกุศลจิตนี้มีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ แต่เรื่องของกุศล นานๆ ก็จะมีโอกาสมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวบ้าง ความมัวเมาในความไม่มีโรคบ้าง ความมัวเมาในชีวิตบ้าง และความมัวเมาในอีกหลายๆ อย่าง เช่น มัวเมาในโภคสมบัติ มัวเมาในลาภ สักการะ เป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลซึ่งจะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป ก็ย่อมจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นความสงบของจิต และที่สำคัญที่สุด คือ อบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะเป็นเครื่องปรุงแต่งให้กุศลประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน.

 

 

 

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ