[คำที่ ๓๖] นิธิ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “นิธิ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า นิธิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มีรากศัพท์มาจาก นิ บทหน้า + ธา ธาตุ ลงในอรรถว่า ทรงไว้ + อิ ปัจจัย ลบ สระอา ที่ต้นธาตุ จึงสำเร็จรูปเป็น นิธิ (อ่านว่า นิ - ทิ) แปลว่า ขุมทรัพย์, ทรัพย์ที่เขาฝังไว้ ในพระพุทธศาสนา มีข้อความที่แสดงเรื่องขุมทรัพย์ อันเป็นขุมทรัพย์ภายใน คือ บุญ ซึ่งได้แก่ความดีทุกประการ ดังข้อความบางตอนจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ นิธิกัณฑสูตร ว่า
“ขุมทรัพย์คือบุญ (บุญนิธิ) ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรก็ลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใด ติดตามตนไปได้ ผู้มีปัญญาพึงทำบุญนิธิอันนั้น”
ขุมทรัพย์ เมื่อกล่าวโดยประเภทใหญ่ๆ แล้ว มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ขุมทรัพย์ภายนอก และขุมทรัพย์ภายใน
ขุมทรัพย์ภายนอก เช่นทรัพย์สิน เงิน ทอง เป็นต้น ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัย อาจจะถูกแย่งชิง หรืออาจจะเสื่อมสูญวันใดวันหนึ่งก็ได้ ไม่ได้เป็นที่พึ่งสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของขุมทรัพย์ (ภายนอก) อย่างแท้จริง บางครั้งบางคราวยังอาจจะเป็นเหตุนำอันตรายมาให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเสียอีก แต่ขุมทรัพย์ภายใน อันได้แก่บุญนิธิ (ขุมทรัพย์ คือ บุญ) ที่กุลบุตรกุลธิดา ฝังไว้ดีแล้วด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการสำรวมปิดกั้นไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ หรือด้วยการฝึกตน อบรมเจริญปัญญาสะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ ควรที่จะได้สะสมอบรมให้มีขึ้น กล่าวโดยสรุปแล้ว กุศลทุกประเภท เป็นบุญนิธิ เป็นขุมทรัพย์ที่มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้ เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่จะติดไปตนไปในภพหน้า พร้อมทั้งยังเป็นเหตุอำนวยผลที่น่าปรารถนาได้ทุกอย่าง เพราะเหตุว่า สิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง สำเร็จด้วยบุญนิธิทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ขุมทรัพย์คือบุญ จึงประเสริฐกว่าขุมทรัพย์ภายนอก ควรอย่างยิ่งที่แต่ละบุคคลจะพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ตามโอกาสและตามกำลังความสามารถที่พอจะกระทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งเป็นการฟังการศึกษาในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต เพราะขณะที่จิตเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในกุศลประเภทใดหรือแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ย่อมประเสริฐกว่าขณะที่จิตเป็นอกุศล, ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ย่อมชำระขัดเกลาอกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศลจิตแล้ว ย่อมขัดขวางต่อการเจริญขึ้นของกุศล ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ