[คำที่ ๓๗] อริยธน

 
Sudhipong.U
วันที่  10 พ.ค. 2555
หมายเลข  32157
อ่าน  570

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อริยธน

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า อริยธน เป็นคำภาษาบาลี มีคำ ๒ คำ รวมกัน คือ คำว่า อริย (ประเสริฐ) + ธน (ทรัพย์) รวมกันเป็น อริยธน อ่านว่า อะ - ริ - ยะ - ทะ - นะ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์อันประเสริฐ มี ๗ ประการ ดังข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกับมหาอำมาตย์ ชื่อ อุคคะ ว่า ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์  ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก, ๗ ประการเป็นไฉน? คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล  ๑ หิริ (ความละอายต่อกุศล) ๑ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อกุศล) ๑ สุตะ (การสดับตรับฟังพระธรรม) ๑ จาคะ (การสละกิเลส) ๑ ปัญญา ๑ ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก

(จาก...พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาต  อุคคสูตร)


บุคคลผู้ที่ยังมีความรักตัว ยังมีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องการที่จะให้ตัวตนมีความสุข ก็จะคิดว่า ชีวิตจะเป็นสุขได้ต้องเป็นชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติ บุคคลเหล่านี้จึงมีโลภะ(ความติดข้อง ต้องการ) ที่จะแสวงหาทรัพย์สมบัติ ให้ทางตา เห็น ทางหู ได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้น ลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ซึ่งแตกต่างจากทรัพย์สมบัติในทางธรรมอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกล่าวถึงทรัพย์สมบัติแล้ว สามารถจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ทรัพย์สมบัติที่ทำให้เกิดความติดข้องยินดีพอใจ ทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่มีวันจบสิ้น

๒. ทรัพย์สมบัติที่ทำให้ละคลายความติดข้อง ทำให้ไปสู่การดับกิเลส ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์

จึงจำต้องถึงเวลาที่จะเลือกแล้วว่าจะเลือกทรัพย์สมบัติประเภทไหน? ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ทรัพย์สมบัติทั้งโลกก็จะแลกกับทรัพย์สมบัติทางธรรม (อริยทรัพย์) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ มี ศรัทธา เป็นต้น ไม่ได้ บุคคลผู้ที่เห็นคุณค่าของอริยทรัพย์ ๗ ประการ มี ศรัทธาเป็นต้นที่เป็นทรัพย์สมบัติทางธรรม จะไม่ยอมแลกกับทรัพย์สมบัติใดๆ ในทางโลกทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้ามผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาเห็นประโยชน์ของอริยทรัพย์ ก็ยังคงพอใจที่จะแสวงหาทรัพย์สมบัติทางโลกอยู่โดยไม่ได้แสวงทรัพย์สมบัติทางธรรมเลย นี่ก็แสดงให้เห็นถึงปัญญาจริงๆ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ทรัพย์สมบัติทางโลกไม่สามารถติดตามตนไปได้ และทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจะหมดสิ้นไปเมื่อใดก็ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นคุณค่าของทรัพย์สมบัติทางธรรม อันเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ ซึ่งจะเป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป  ตลอดจนกระทั่งเป็นที่พึ่งที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ด้วย โดยเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ก็มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดพร้อมกันกับจิตในขณะนั้น และเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ในที่สุด นี้คือ ทรัพย์สมบัติที่ประเสริฐอย่างยิ่งในชีวิต ทำให้เป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ