[คำที่ ๓๘] อนิจฺจ

 
Sudhipong.U
วันที่  17 พ.ค. 2555
หมายเลข  32158
อ่าน  508

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อนิจฺจ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า อนิจฺจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจาก บทหน้า (แปลว่า ไม่) + นิจฺจ (แปลว่าเที่ยง) แปลง เป็น จึงสำเร็จรูป เป็น อนิจฺจ (อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นิด - จะ) แปลว่า ไม่เที่ยง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา

ดังข้อความบางตอนจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารแม้ทั้งปวงในภพทั้งหลาย มีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่า มีแล้ว ไม่มี ดังนี้.

ในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อสุภสูตร ได้อธิบายไว้ว่า

“ขันธ์ ๕  ชื่อว่า อนิจจัง (ไม่เที่ยง) เพราะมีแล้วกลับไม่มี  เพราะประกอบด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เพราะเป็นไปชั่วคราว และเพราะแย้งต่อความเที่ยง”


ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง เป็นปรมัตถธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เพราะเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น             

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะปราศจากจิต มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย  เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ไม่เคยปราศจากจิตเลย

เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ สติ(สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวต่อบาป) เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไปทั้งนั้น

รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร รู้อารมณ์อะไรๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นามธรรม รูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน

ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่สภาพธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้ จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มุ่งถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม (สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นไป) เท่านั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง (เพราะเกิดดับ) เมื่อไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ (เพราะทนอยู่ไม่ได้ คือเกิดแล้วก็ต้องดับไป) และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) ธรรม  เป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษา และสิ่งที่มีจริงทั้งหลายเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้ง บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสทั้งหลายได้  สำคัญอยู่ที่ปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ