[คำที่ ๓๙] มิจฉาทิฏฐิ

 
Sudhipong.U
วันที่  24 พ.ค. 2555
หมายเลข  32159
อ่าน  495

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  มิจฺฉาทิฏฺฐิ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำสองคำ คือ มิจฺฉา (ผิด) + ทิฏฺฐิ (ความเห็น) รวมกันเป็น มิจฺฉาทิฏฺฐิ (อ่านว่า มิด - ฉา -  ทิด - ถิ) แปลว่า ความเห็นผิด ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และยังเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดมากขึ้น   เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ดังข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง (คือ เกิดมากขึ้น) เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  เอกนิบาต)


มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง   ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเห็นผิดเป็นกิเลสที่อันตรายมาก มีโทษมาก เพราะว่า เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ด้วย ในพระไตรปิฎกมีก ารเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กาย วาจา ใจ ที่คล้อยตามความเห็นผิดของผู้ที่มีความเห็นผิดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะเหตุว่าเป็นกุศลธรรม นำมาซึ่งทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนกับเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม  เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี เท่านั้น, บุคคลผู้ที่มีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิด ย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะได้ มีแต่จะเพิ่มพูนข้อปฏิบัติผิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น และที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง คือ ตนเองมีความเห็นผิดแล้ว ยังชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นผิดตามไปด้วย เผยแพร่ความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยิ่งจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเห็นผิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดพิจารณาที่จะให้เป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) อยู่เสมอ เพื่อให้พ้นจากความเห็นผิด เพราะว่าความเห็นผิดนี้  สำหรับผู้ที่มีอวิชชาและตัณหาแล้ว เกิดไม่ยากเลย คือ ย่อมมีความพอใจที่จะเห็นผิดไปต่างๆ นานาได้ แต่การจะพ้นจากความเห็นผิดได้นั้น  ต้องอาศัยการพิจารณาเหตุผลที่ถูกต้องสมควรจริงๆ  จึงจะทำให้พ้นจากความเห็นผิดได้ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ

ขณะที่ฟังพระธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจถูก เริ่มที่จะมีความเห็นถูก จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ โดยที่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาอย่างแท้จริง การที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นๆ นั้นดีกว่าที่จะไม่มีหนทางเลย ขณะที่เรายังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์นั้น ก็เหมือนกับการที่เราตกไปในเหวลึก เมื่อเราตกไปในเหวลึกแล้ว เราไม่ควรที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย แต่ควรอย่างยิ่งที่เราจะค่อยๆ ไต่ขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจากการฟัง การศึกษาในชีวิตประจำวัน นั่นเอง ประการที่สำคัญ เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุด ในการที่จะทำให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น ได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ