[คำที่ ๔๑] ปปาต

 
Sudhipong.U
วันที่  7 มิ.ย. 2555
หมายเลข  32161
อ่าน  494

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  ปปาต

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า ปปาต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มีรากศัพท์มาจาก ป บทหน้า ปต ธาตุ ลงในอรรถว่า ตกลงไป, ตกไป + ณ ปัจจัย แปลง อ ที่ ป ต้นธาตุ เป็น อา จึงรวมกันเป็น ปปาต (อ่านว่า ปะ - ปา - ตะ) แปลว่า เหว โดยอรรถแล้ว คือ ที่เป็นที่ทำให้สัตว์ตกลงไป, เป็นสิ่งที่เมื่อตกลงไปแล้ว ขึ้นมาได้ยาก ในทางธรรมมีอรรถที่ลึกซึ้งมาก ครอบคลุมวัฏฏะทั้งสิ้น ดังข้อความบางตอนจาก สัทธรรม-ปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

บทว่า มหาปปาเต (ในเหวใหญ่) ได้แก่ ในเหว คือ คติ ๕  (เกิดในนรก, เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน, เกิดเป็นเปรต,  เกิดเป็นมนุษย์ และเกิดเป็นเทวดา), หรือ ในเหว คือ ชาติ ชรา และมรณะ ทั้งหมดนั้นชื่อว่า ปปาตะ(เหว) เพราะขึ้นได้ยาก


เหว หมายถึง ที่เป็นที่ทำให้สัตว์ตกลงไป และยากที่จะขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าจะได้เกิดในภพภูมิที่ดี ที่เป็นสุคติภูมิ ได้แก่ เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม แต่ก็ได้ชื่อว่าอยู่ในเหว หรือตกลงไปในเหว เนื่องจากว่ายังอยู่ในวัฏฏะ ยังไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเมื่อมีการเกิด ก็ย่อมจะมีทุกข์ประการต่างๆ มากมาย อันสืบเนื่องมาจากการเกิด เมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องแก่ เจ็บ และตายในที่สุด เมื่อตายแล้วก็เกิดอีก ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ในวัฏฏะ

ที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่ได้เกิดในภพภูมิที่ดีซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมนั้น ก็ยังสามารถจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทแรก อยู่ในเหว แต่ก็ไม่รู้ว่าอยู่ในเหว เป็นผู้เต็มไปด้วยความประมาทมัวเมา ไม่เห็นประโยชน์ที่ตนจะพึงได้จากการได้เกิดในภพภูมิที่ดีอย่างเช่นได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งยากแสนยากกว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้เพลิดเพลินไหลไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ ไม่สะสมที่พึ่ง คือ กุศลธรรมให้กับตนเอง ซึ่งจะเป็นเหตุให้จมอยู่ในเหวอีกต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นจะเป็นเหตุให้จมลึกลงไปในเหวที่น่ากลัวกว่าสุคติภูมิ นั่นก็คือ อบายภูมิอันเป็นผลของกุศลกรรม ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานเดือดร้อนมากมายโดยที่ไม่มีใครทำให้เลย

ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ อยู่ในเหว แต่ก็รู้ว่าตนเองอยู่ในเหว โดยเฉพาะเหวที่ลึกที่สุด คือ เหวของอวิชชาความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยเห็นว่าอวิชชาเป็นอกุศลธรรม ที่ยังสัตว์ให้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีวันจบสิ้น จึงเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ ไม่ปล่อยมือจากกุศลธรรมและไม่ปล่อยมือจากการฟังพระธรรม ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะทำให้ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากเหวที่ตนเองตกลงไปได้ทีละเล็กทีละน้อย โดยจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะขึ้นจากเหวได้อย่างแท้จริง เมื่อบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ดับอวิชชาและกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่ต้องตกลงไปในเหวทั้งหลายทั้งปวงอีกต่อไป จึงควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินไปตามหนทางที่จะทำให้ตนเองไต่ขึ้นจากเหวได้ ซึ่งเป็นหนทางเดิม หนทางเดียว คือ การอบรมเจริญปัญญา โดยไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ