[คำที่ ๔๕] หิริโอตฺตปฺป

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ก.ค. 2555
หมายเลข  32165
อ่าน  1,787

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ หิริโอตฺตปฺป

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า หิริโอตฺตปฺป เป็นคำบาลี ๒ คำ คือ คำว่า หิริ หมายถึง ความละอายต่อบาป และ โอตฺตปฺป หมายถึง ความเกรงกลัวต่อบาป เกรงกลัวต่อผลของบาป คำว่า หิริโอตปฺป (เขียนเป็นไทยได้ว่า หิริโอตตัปปะ) ดังข้อความบางตอนจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า “หิริและโอตตัปปะ แม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมปรากฏในการเว้นจากความชั่ว จริงอยู่ คนบางคนก้าวลงสู่ธรรม คือ ความละอายในภายใน ย่อมไม่ทำบาป คนบางคนเป็นผู้กลัวต่อภัยในอบายแล้วก็ไม่ทำบาปกรรม”


หิริ (ความละอายต่อบาป) และ โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวต่อบาป) ต่างก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีด้วยกันทั้งคู่ เกิดพร้อมกันทุกครั้ง เป็นความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาปที่จะเกิดขึ้น เพราะบาปธรรมนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลังโดยส่วนเดียว ขณะใดที่เว้นจากความชั่ว(บาป อกุศล ทุจริต)ทั้งปวง แม้ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงใด ขณะนั้นก็เป็นเพราะหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่รังเกียจ ละอาย เกรงกลัวโทษของบาป เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

ถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นระดับของหิริโอตตัปปะว่ามีหลายขั้น ขณะที่ละเว้นจากทุจริต ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะขั้นหนึ่ง แต่ว่าขั้นละเอียดกว่านั้นอีก คือ เห็นโทษของอกุศล หมายความว่า แม้ว่าจะไม่กระทำทุจริตกรรม แต่ก็ยังเห็นว่าอกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรละอาย ควรรังเกียจ เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะของแต่ละบุคคล ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ในระดับไหน ในขั้นไหน ตามกำลังของปัญญา    

สำหรับผู้ที่ไม่ทำชั่ว มีเหตุที่จะให้ละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นภายใน คือ มีตนเป็นใหญ่ ดังต่อไปนี้

.ไม่ทำชั่ว เพราะพิจารณาถึงชาติ คือ การเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม ย่อมเป็นผลของกุศลกรรม และรู้ได้ว่า บุญญกิริยาวัตถุ (การกระทำความดีประการต่างๆ) เป็นมนุษยธรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการพิจารณาถึงชาติ คือ การเกิดเป็นมนุษย์ ในขณะนั้นก็เป็นเหตุที่จะทำให้ละการกระทำทุจริต เพราะเห็นว่าการกระทำทุจริต การทำชั่ว เป็นการกระทำที่ต่ำทราม ไม่ใช่เป็นธรรมของมนุษย์ เมื่อระลึกได้อย่างนี้ ก็จะไม่ทำทุจริต ไม่ล่วงศีล

๒.ไม่ทำชั่ว เพราะพิจารณาถึงวัย เห็นว่าการทำชั่วเป็นเรื่องของเด็กหรือว่าผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่สามารถมีสติปัญญาพิจารณาความถูก ความควรได้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พ้นจากวัยเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องที่ควร ไม่ควรแล้ว ก็ควรจะเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า สิ่งใดไม่ควรจะกระทำ ในขณะนั้นก็เว้นความชั่ว เพราะระลึกถึงวัย รู้ว่าสิ่งใดที่เหมาะ สิ่งใดที่ควรแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทำสิ่งซึ่งเด็กที่เยาว์วัยกระทำได้เลย

.ไม่ทำชั่ว เพราะพิจารณาถึงความแกล้วกล้า เพราะเหตุว่า คนขลาดย่อมทำอกุศล แต่ว่าคนแกล้วกล้านี้ กล้าที่จะทำกุศลและไม่ทำอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนกล้าหาญ ที่จะไม่ทำอกุศล คนขลาดทำอกุศล เพราะเหตุว่ากลัวลำบากบ้าง กลัวยากจนบ้าง กลัวความทุกข์ต่าง ๆ บ้าง จึงเป็นเหตุให้กระทำทุจริต แต่คนกล้าหาญ แม้ว่าจะลำบาก แม้ว่าจะขัดสน แม้ว่าจะยากจน ก็จะไม่ทำทุจริต คนแกล้วกล้านั้น จึงกล้าละเว้นทุจริตได้โดยไม่กลัวความลำบากต่างๆ

๔. ไม่ทำชั่ว เพราะพิจารณาถึงความเป็นพหูสูต (สดับตรับฟังพระธรรม) คือ พิจารณา ว่า “การทำชั่ว เป็นการกระทำของคนพาล ไม่ใช่ของบัณฑิต การทำชั่ว ไม่สมควรแก่บุคคลผู้เป็นพหูสูต ผู้เป็นบัณฑิตเช่นกับเรา” แล้วไม่ทำชั่ว เพราะเห็นว่าคนทำชั่วเป็นคนไม่ฉลาด บุคคลใดก็ตามที่ทำชั่ว บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ฉลาด

นอกจากนั้นยังมีเหตุภายนอก อันเป็นเหตุให้ไม่ทำชั่ว คือ พิจารณาเห็นว่า เมื่อตนเองได้ทำชั่วไปแล้ว คนอื่นย่อมติเตียนได้ จึงไม่ทำชั่ว พร้อมทั้งนึกถึงภัยอันน่ากลัวในอบายภูมิอันเป็นผลจากการทำชั่ว จึงไม่ทำชั่ว เพราะนึกถึงภัยในอบายภูมิ ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ ก็จะไม่มีการทำทุจริต ไม่มีการทำชั่วใดๆ เลย ธรรม ๒ ประการนี้ คือ หิริ และ โอตตัปปะ จึงเป็นธรรมคุ้มครองโลก เป็นธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สัตว์โลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบร่มเย็น ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยประการทั้งปวง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ