[คำที่ ๔๖] อิตฺตรวาส
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อิตฺตรวาส”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า อิตฺตรวาส เป็นคำภาษาบาลี [อ่านว่า อิด - ตะ - ระ - วา - สะ] แปลว่า ที่พักชั่วคราว มาจากคำว่า อิตฺตร (เล็กน้อย, สั้น, ชั่วคราว) รวมกับคำว่า วาส (ที่อยู่ หรือ ที่พัก) ในสังคมไทยไม่ได้ใช้คำบาลีคำนี้ แต่พอแปลแล้ว ก็มีความหมายที่ดี เป็นเครื่องเตือนใจที่ดี เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างแท้จริง ดังข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก อุทยชาดก ว่า
“เธอพึงทราบว่า สุคติและทุคติในสังสารวัฏฏ์ เป็นที่พักชั่วคราว เธอจงอย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด”
ในอรรถกถา ได้อธิบายไว้ว่า
“เธอพึงทราบเถิดว่า ในสังสารวัฏฏ์นี้ สุคติคือที่เกิดของมนุษย์ และทุคติ คือที่เกิดของสัตว์ดิรัจฉาน นี้ใด แม้ทั้งสองนั้น เป็นที่พักชั่วคราว แล้ว จงประพฤติธรรมเถิด อย่าประมาทเสียนะ การมาจากที่ต่างๆ แล้วพบกันในที่แห่งเดียวกันของสัตว์เหล่านั้น เป็นการนิดหน่อย สัตว์เหล่านี้อยู่ร่วมกันชั่วกาล มีประมาณเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท”
พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ย่อมเป็นเครื่องเตือนที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูก มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จนกระทั่งสูงสุด เพื่อความเป็นผู้หมดจดจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น จากอุทยชาดกนี้ก็เช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงจนหมดสิ้น การเวียนว่ายตายเกิด ย่อมมีอยู่ตราบนั้น ไม่เป็นสุคติภูมิ ก็เป็นทุคติภูมิ ตามกรรม กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ตามสมควรแก่กรรม
การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้นสั้นมาก ไม่ยั่งยืนเลย เป็นที่พักชั่วคราวจริงๆ แม้จะเกิดเป็นเทวดามีความสุข สะดวกสบายทุกอย่าง แต่ถึงอย่างไร ในที่สุดก็จะต้องเคลื่อนจากความเป็นเทวดา มนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดมาในแต่ภพแต่ละชาติ ก็ต้องสิ้นสุดที่ความตายทั้งนั้น พักเพียงชั่วคราวแล้วก็ต้องไปต่อ ยังต้องเดินทางต่อไปในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดอยู่ร่ำไป ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม นั่นเอง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรม เท่านั้น
สำหรับผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นผู้ประพฤติธรรม ตั้งอยู่ในธรรมอันงาม เพราะภูมิมนุษย์ เป็นภูมิที่เอื้ออำนวยให้สามารถเจริญกุศลได้ทุกๆ ประการ ทั้งในเรื่องของการให้ทาน รักษาศีล การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้ที่ควรอ่อนน้อม การฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น เมื่อมีโอกาสแล้ว ก็ไม่ควรที่จะปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านเลยไป และประการที่สำคัญที่สุด การที่ไม่จะประมาทจริงๆ คือ เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม
การฟังพระธรรม เป็นเหตุให้ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีความประพฤติที่ดีงามยิ่งขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตามระดับขั้นของปัญญา สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ในที่สุด เพราะความเข้าใจถูกเห็นถูกในขณะนี้ ย่อมน้อมไปสู่การที่จะสามารถดับกิเลสได้อย่างแท้จริง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ