[คำที่ ๔๗] ธมฺมสฺสวน

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ก.ค. 2555
หมายเลข  32167
อ่าน  554

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธมฺมสฺสวน

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า ธมฺมสฺสวน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า ทำ - มัด - สะ - วะ - นะ แปลว่า การฟังพระธรรม ฟังคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นการฟังในสิ่งที่มีจริง เป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าใจตามความเป็นจริง การฟังพระธรรมทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น ใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ธัมมัสสวนสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ (ผล) ในการฟังพระธรรม ไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑ ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑ ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๑ จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล


ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะต่อไปก็เกิดสืบต่อทันที, ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะที่กุศลจิตเกิด กุศลจิตเกิด เป็นต้น ล้วนเป็นจิตทั้งนั้น  ชีวิตจะปราศจากจิตไม่ได้เลย ดำเนินไปอย่างนี้ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตในภพนี้ชาตินี้ ประมวลเรียกว่าชีวิต แล้วในชีวิตนี้ช่วงเวลาที่ดี ที่มีค่า นั้น ควรจะเป็นอย่างไร? ผู้ที่มีปัญญาย่อมจะพิจารณาได้ว่า ช่วงเวลาของชีวิตที่ดี ที่มีค่า ก็คือ การมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง จากที่เคยไม่รู้มานานแสนนาน จากที่เคยเข้าใจเพียงเล็กน้อย หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็จะทำให้เข้าใจถูกต้อง ตรงยิ่งขึ้น ก็เพราะมีการฟังพระธรรม ในขณะที่เข้าใจก็ผ่องใสด้วยกุศล จะแตกต่างจากขณะที่ไม่ได้ฟังพระธรรมซึ่งจะหนักไปด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย

วันหนึ่งๆ สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน อกุศลจิตเกิดมากเป็นพื้นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม กิเลสอกุศลมีแต่จะหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกวันๆ แต่เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นๆ จากการฟังพระธรรม ย่อมจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย [ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้] ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อย่างตั้งใจ และมีความจริงใจในการศึกษาว่าศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ศึกษาเพื่อละ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น และที่สำคัญการฟังพระธรรมแต่ละครั้ง จะมากหรือน้อย ย่อมไม่ไร้ผล มีแต่จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ