[คำที่ ๕o] วิริยะ

 
Sudhipong.U
วันที่  9 ส.ค. 2555
หมายเลข  32170
อ่าน  509

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  วิริย

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า วิริย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า วิ - ริ  - ยะ แปลว่า ความเพียร, ความเพียรที่ถูกต้องหรือความเพียรชอบนั้น ต้องเป็นความเพียรที่เป็นไปกับด้วยกุศล เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นมีที่พึ่งอย่างแท้จริง ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมนาถสูตร ว่า  

“ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมที่กระทำให้มีที่พึ่ง”


วิริยะ (ความเพียร) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท เว้นไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวารราวัชชนจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง เพราะจิต ๑๖ ดวงนี้กระทำกิจของตนๆ ได้ โดยไม่ต้องมีวิริยะเป็นปัจจัยเลย ในขณะที่ฟังพระธรรม    ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ  หรือ ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย    ดังนั้น ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นกุศล และเพียรที่เป็นอกุศล ด้วย จึงควรพิจารณาว่า    ความเพียรใดๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้วเป็นไปเพื่อความเกิดมากขึ้นของกุศล  ทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้นไม่ควรเริ่ม ไม่ควรประกอบ ในทางตรงกันข้าม  ความเพียรใดๆ ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้น ควรเริ่ม ควรประกอบ นี้คือ ความจริง สำหรับในชีวิตประจำวัน ความเพียรที่เป็นไปกับการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกๆ ประการ เป็นความเพียรที่ควรประกอบ ควรอบรมให้มีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะคล้อยไปสู่การดับกิเลสได้ในที่สุด

เป็นความจริงที่ว่า บุคคลที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป และจะเห็นได้ว่าในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา นั้น เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเราทำอะไร ที่ไหนมาบ้าง เพราะชาติก่อนๆ เป็นเหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ ในชาตินี้ รู้ได้เลยว่า เราทำอะไรมาบ้างแล้ว ทั้งที่เป็นกุศลและกุศล และประการที่สำคัญ คือ รู้ว่าชาตินี้ ปัญญายังไม่พอที่จะสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลทุกประการ โดยที่รู้ว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ได้ แต่ถ้าปัญญาในระดับที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้ทำกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ตามกำลังของกิเลส เมื่อเป็นเช่นนี้ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยจริงๆ กล่าวคือ  ไม่ประมาทกำลังของกิเลส และไม่ประมาทในการเจริญกุศลสะสมความดีทุกประการ พร้อมทั้งมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว คือ มีความเพียรในการที่จะเจริญกุศล และอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ