[คำที่ ๕๒] พนฺธน
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “พนฺธน”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า พนฺธน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า พัน - ทะ - นะ แปลว่า เครื่องผูก ซึ่งคนในสังคมไทยคุ้นกับคำว่า เครื่องพันธนาการ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ หมายถึง เครื่องผูก ไม่ได้หมายถึงเพียงเครื่องผูกภายนอก ที่เป็นเชือก เป็นโซ่ตรวน เป็นต้น เท่านั้น แต่ยังหมายถึงเครื่องผูกภายใน อันเห็นได้ยากและตัดได้ยาก คือ กิเลส ด้วย ดังข้อความบางตอนจาก ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
“บทว่า ทุปฺปมุญฺจํ (เปลื้องออกยาก) ความว่า ชื่อว่า เปลื้องได้โดยยาก ก็เพราะเครื่องผูกคือกิเลส อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความโลภแม้คราวเดียว ย่อมเป็นกิเลสอันบุคคลเปลื้องได้โดยยาก เหมือนเต่าเปลื้องจากที่เป็นที่ผูกได้ยาก ฉะนั้น นักปราชญ์(ผู้มีปัญญา)ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกคือกิเลสนั้น แม้อันมั่น อย่างนั้น ด้วยพระขรรค์คือญาณ (ปัญญา) เป็นผู้หมดความเยื่อใย ละกามสุขแล้ว เว้นรอบ คือ หลีกออก”
เครื่องผูกในภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเชือก โซ่ตรวน เป็นต้น ไม่ใช่เครื่องผูกที่มั่นคง เพราะเหตุว่าผู้ที่ถูกผูกด้วยเครื่องผูกเหล่านี้ ยังมีโอกาสหลุดพ้นไปได้ สามารถทำลายแล้วออกไปได้ หรือแม้กระทั่งขณะที่ถูกผูกอยู่นั้น สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ทำงานต่างๆ ก็ได้ จึงไม่ชื่อว่าเป็นเครื่องผูกที่มั่นคง แต่เครื่องผูกที่มั่นคงนั้น ได้แก่ กิเลสทั้งหลายทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ไม่เว้นแม้แต่ประเภทเดียว ผูกไว้ไม่ให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ซึ่งพาให้ตกต่ำเพียงอย่างเดียว ไม่นำประโยชน์ใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย, ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ถูกผูกด้วยเครื่องผูก คือ กิเลส ทำให้ไม่สามารถออกไปจากวัฏฏะได้ ยังเต็มไปด้วยทุกข์ประการต่างๆ มากมาย อันเนื่องมาจากกิเลสนั่นเอง
จึงแสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่พ้นจากเครื่องผูกไปได้ ยังถูกผูกไว้ด้วยกิเลสนานาประการ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เราถูกผูกด้วยกิเลสมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่ายังไม่รู้จักเครื่องผูกคือกิเลสที่มีอยู่ภายใน ถูกผูกแล้วไม่รู้สึกตัวว่าถูกผูก จึงมีความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสมากมายซึ่งเป็นเหตุทำให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไม่ควรถึง นั่นก็คือ อบายภูมิ กล่าวโดยสรุป คือ ถูกผูกอยู่ก็ไม่รู้ว่าถูกผูก จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงจะรู้ว่าตนเองถูกผูกด้วยกิเลส และกิเลสที่แต่ละบุคคลมีนั้นก็มากมายเหลือเกิน เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา จึงไม่ละเลยในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องตัดซึ่งเครื่องผูกคือกิเลสได้ เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่ท่านตัดเครื่องผูกคือกิเลสได้ด้วยปัญญา.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ