[คำที่ ๕๔] กุศล

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ก.ย. 2555
หมายเลข  32174
อ่าน  793

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์กุสล

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า กุสล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า กุ - สะ - ละ เขียนและอ่านในภาษาไทยว่า กุศล (กุ - สน) มีความหมายที่หลากหลายมาก แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว หมายถึง  สภาพธรรมที่ดีงาม (ความดี) เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโรคคือไม่มีกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ยังบาปธรรมให้สิ้นไป เป็นสภาพธรรมที่ทำลายกุศล ดังข้อความบางตอนจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถาอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า  

สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปธรรมอันบัณฑิตเกลียดให้ไหว ให้เคลื่อนไป   ให้หวั่นไหว  คือ ให้พินาศชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด คือ ย่อมทำลายกุศล  เหมือนหญ้าคา  ฉะนั้น


กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่มีกิเลส ก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและกับบุคคลอื่น, ขณะที่กุศลเกิดขึ้น กิเลสย่อมเกิดไม่ได้ เป็นคนละส่วนเป็นคนละขณะกัน เพราะกุศล เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งบาปธรรมทั้งหลาย แต่ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโรค (เป็นโรคทางใจ) โรคทางกายเห็นได้ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่มีใครต้องการ แต่โรคทางใจไม่เคยเห็น ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโรคแล้ว จิตของแต่ละบุคคลจึงมีโรคหลายอย่างแล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ โรคอิสสา (ความริษยา) โรคมัจฉริยะ(ความตระหนี่) เป็นต้น ก็มีประเภทของโรคต่างๆ มากมายเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่สำหรับกุศลนั้น ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส จึงไม่มีโทษ และที่สำคัญ กุศล มีสุขเป็นวิบาก ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย นี่คือทุกๆ ขณะที่เป็นกุศล และก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ในชีวิต ไม่ได้หมายถึงการได้รูป เสียง กลิ่น  รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ดี ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ แต่ต้องเป็นกุศล เท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกนี้ ประโยชน์สุขในโลกหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่าง ๆ ดับกิเลสได้ตามลำดับ

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเป็นผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากกุศล เพราะบุคคลผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากกุศล ก็ไม่ต่างอะไรกับซากศพ  ที่มีแต่ความเน่าเหม็นน่ารังเกียจ แต่ควรอย่างยิ่งที่แต่ละบุคคลจะสะสมกุศล ทั้งทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา  สะสมปัญญาไปตามลำดับ เวลาของแต่ละบุคคลเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด การได้สะสมกุศลไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์โดยแท้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ