[คำที่ ๕๕] อัคฺคิ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อคฺคิ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า อคฺคิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า อัก - คิ แปลว่า ไฟ หมายถึงทั้งไฟภายนอก และไฟภายใน คือ กิเลส แต่ที่จะนำเสนอนี้ขอกล่าวถึงไฟภายใน คือ กิเลส อันเป็นเครื่องเผาลนจิตใจให้เร่าร้อน เป็นสิ่งที่ตามเผาผลาญอยู่ตลอด เป็นไฟที่ควรเว้น ไม่ควรเข้าใกล้ ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ทุติยอัคคิสูตร ว่า
“ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้ ไฟ ๓ กองเป็นไฉน? ได้แก่ ไฟ คือ ราคะ ๑ ไฟ คือ โทสะ ๑ ไฟ คือ โมหะ ๑ ดูก่อนพราหมณ์ ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ นี้? เพราะบุคคลผู้กำหนัดอันราคะครอบงำย่ำยีจิต ผู้โกรธอันโทสะครอบงำย่ำยีจิต ผู้หลงอันโมหะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะ ไฟคือ โทสะ ไฟคือโมหะ นี้ ”
ในชีวิตประจำวันโดยปกติสำหรับบุคคลผู้มีกิเลสอยู่นั้น มีโลภะ ความติดข้อง ยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ติดข้องทุกสิ่งทุกอย่าง มีตั้งแต่ระดับที่บางเบา จนกระทั่งมีกำลังแรงถึงขั้นกระทำทุจริตกรรมเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ, มีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ความโกรธ ความไม่พอใจ เวลาที่โทสะเกิดขึ้น จะรู้สึกไม่สบายใจทันที เพราะเวทน(ความรู้สึก) ที่เกิดร่วมกันกับโทสะ มีเพียงโทมนัสสเวทนาอย่างเดียว จะมีความสบายใจไม่ได้เลยในขณะที่เกิดโทสะ, และมีโมหะ ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่อกุศลจิตเกิดแต่ละครั้ง โมหะก็จะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง นอกจากนั้นก็ยังมีอกุศลธรรมประการอื่นๆ เกิดร่วมด้วยตามควรแก่ประเภทของอกุศลจิตนั้นๆ จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน ไม่พ้นไปจากอกุศล ไม่พ้นไปจากกิเลสเลย มีเป็นปกติ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่ถ้าเมื่อใดถึงขั้นที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีกำลังมาก ซึ่งเมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ย่อมทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นและเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ได้โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ราคะ (ความกำหนัดติดข้องยินดีพอใจ เป็นอีกชื่อหนึ่งของโลภะ) โทสะ โมหะนี้ เป็นไฟ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เผาลนจิตใจให้เร่าร้อน และให้ผลเป็นทุกข์อีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ไฟเมื่อไหม้สิ่งใด ย่อมปรากฏควันหรือเถ้า แต่ไฟคือราคะ โทสะ โมหะ นี้ เมื่อไหม้อยู่ย่อมไหม้ภายในใจของสัตว์ ย่อมเผาลนจิตใจให้เร่าร้อนเท่านั้น ไม่ปรากฏแม้ควันและเถ้าเลย และไหม้โดยไม่เลือกเวลาด้วย เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเมื่อใดก็เผาลนจิตใจให้เร่าร้อนเมื่อนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะละเว้นไฟเหล่านี้โดยประการทั้งปวงด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง สามารถทำให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเองได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่า ทรงชี้ให้เห็นโทษของกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่มีการฟัง การศึกษาเลย ความรู้ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ และปัญญานี้เอง ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับเมื่อเจริญสมบูรณ์พร้อมก็จะสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นการดับไฟภายในได้ในที่สุด
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ