[คำที่ ๕๗] กรรม
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กมฺม”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า กมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า กำ - มะ เขียนเป็นไทยได้ว่า กรรม แปลว่า การกระทำ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาที่จงใจขวนขวายกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิพเพธิกสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่า เป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”
พระพุทธพจน์อีกบทหนึ่งที่ชาวพุทธควรศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม คือ
“บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”
(จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก จุลลนันทิยชาดก)
ประโยชน์ของการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงทุกขณะ แม้แต่ในเรื่องกรรม ก็เป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะกรรม เป็นเจตนาเป็นความจงใจตั้งใจขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งที่เข้าใจกัน มีทั้งกระทำกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น และ กระทำกรรมไม่ดี เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น) เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้า ตามเหตุตามปัจจัย ที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ เจตนา เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า มุ่งหมายถึงเฉพาะเจตนาที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เท่านั้น
เมื่อได้ศึกษาในเรื่องกรรมแล้ว ก็จะเป็นเครื่องเตือนที่ดีในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพราะในอดีตชาติเราก็เคยได้กระทำกรรมมาแล้ว ทั้งดี ทั้งไม่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ดีนั้น เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขหรือทำอะไรได้ แต่ในขณะนี้ เราสามารถสะสมในสิ่งที่ดีงามต่อไปได้ ด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในการสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการสะสมเหตุที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเห็นที่ถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจธรรมมากๆ ขึ้น ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดีขึ้น ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลไปตามลำดับ, ความดีที่ได้สะสมไว้นี้ ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และความดี ย่อมนำมาซึ่งผลที่ดี ไม่เคยนำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้เลยแม้แต่น้อย
เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใด จะให้ผลเมื่อใด ทางที่ดีที่สุด คือ พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น โดยที่ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่ไปทำ แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลกรรมทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะกระทำ เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศล เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่จะนำเราไปสู่ทางที่ดียิ่งขึ้น.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ