[คำที่ ๖๗] ปจฺฉิมวาจา

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ธ.ค. 2555
หมายเลข  32187
อ่าน  515

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปจฺฉิมวาจา

คำว่า ปจฺฉิมวาจา (ปัด - ฉิ - มะ - วา - จา) เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำสองคำรวมกัน คือ ปจฺฉิม (สุดท้าย) กับ คำว่า วาจา  (วาจา,คำพูด) แปลว่า วาจาครั้งสุดท้าย, คำพูดครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นพระวาจาหรือพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ว่า 

พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลเพื่อให้พุทธบริษัทได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ไปมองที่คนอื่น แทนที่จะคิดว่าคนอื่นเขาไม่ดี กระทำแต่อกุศลกรรมประการต่างๆ เป็นต้น ก็ควรที่จะเห็นกิเลสของตนเองและพยายามที่จะขัดเกลาให้เบาบางลง เพราะกิเลสซึ่งเป็นความไม่ดีของตนเอง ใครๆ ก็กำจัดหรือละคลายให้ไม่ได้ ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี (ของตนเอง) เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้นที่จะละคลายขัดเกลากิเลสได้   

บุคคลผู้ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดมากขึ้น ย่อมรู้จักตัวเองว่าเป็นผู้มีกิเลสมาก ซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ในวันหนึ่งๆ มากไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) เป็นผู้ขาดเมตตา เห็นแก่ตัว เป็นผู้ถูกอวิชชาท่วมทับอยู่ตลอด และมีกุศลเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งจะทำให้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส แล้วมีความเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญา เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อละคลายกิเลส เป็นการกระทำที่พึ่งให้แก่ตน, ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่ไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะทำแต่อกุศลกรรมต่างๆ มากมาย ประมาท มัวเมา พอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้น ซึ่งจะทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป อย่างไม่มีวันจบสิ้น และที่น่าพิจารณา คือ อบายภูมิ มีนรก เป็นต้น รอท่าอยู่แล้วสำหรับผู้กระทำอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งไปได้ง่ายมากเลยทีเดียว ต้นเหตุจริงๆ ก็คือ ความไม่รู้ เพราะไม่รู้จักนรก จึงทำทางให้ตนเองไปสู่นรก

ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง ก็จะเห็นได้ว่า เวลาของแต่ละบุคคลเหลือน้อยแล้ว ที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ควรที่จะได้เตือนตนเองอยู่เสมอว่า  "วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่" ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรในการเจริญกุศลและอบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป การกระทำของบุคคลอื่น ก็เป็นของคนอื่น แล้วเราจะสะสมอย่างไหนระหว่างความดีกับความชั่ว ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่? ในเมื่อชาตินี้ยังเป็นผู้มีกิเลสมาก อกุศลจิตเกิดบ่อยมาก และปัญญาก็ยังไม่เจริญ ถ้าหากว่าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีบ่อยๆ เนืองๆ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของอกุศลที่พร้อมจะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา และอาจจะตายไปพร้อมกับความไม่รู้ก็เป็นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบได้ ดังนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่ควรประมาทในชีวิต ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมลาภที่ประเสริฐ นั่นก็คือ การฟังพระธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไปด้วย แม้แต่วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ยังตรัสพระวาจาครั้งสุดท้าย เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะความไม่ประมาท นำมาซึ่งกุศลทั้งปวง ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ