[คำที่ ๖๘] สุภาสิตาวาจา

 
Sudhipong.U
วันที่  13 ธ.ค. 2555
หมายเลข  32188
อ่าน  626

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  สุภาสิตา วาจา

คำว่า สุภาสิตา วาจา เป็นคำบาลีทั้งสองคำ แปลจากข้างหลังมาข้างหน้าได้ว่า วาจา (วาจา,คำพูด) สุภาสิตา (ที่บุคคลกล่าวดีแล้ว) นิยมแปลทับศัพท์ว่า วาจาสุภาษิต ความหมายก็คือ เป็นวาจาหรือคำพูดที่ดี มีประโยชน์ เป็นคำพูดที่ผู้รู้ไม่ติเตียน เป็นคำพูดที่ผู้รู้สรรเสริญ เป็นคำพูดที่มิใช่คำเท็จ คำส่อเสียด คำหยาบ และคำเพ้อเจ้อ จะรู้ได้ว่าวาจาใดเป็นวาจาสุภาษิต ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ดังข้อความจากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต วาจาสูตร ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน    องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นจริง ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕  ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน”


การพูด เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน จำเป็นจะต้องพูดคุยสนทนากับผู้อื่นอยู่เสมอ และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ  เวลาที่หิริ (ความละอายต่ออกุศลธรรม) และ โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) มีกำลังขึ้น เกิดขึ้นเป็นไป ก็จะทำให้พูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น  นึกถึงคนฟังมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เช่น พูดเหน็บแนมผู้อื่น คำพูดกระทบกระเทียบผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นคำพูดที่ไม่บริสุทธิ์เลย เพราะจิตใจไม่สะอาด เป็นอกุศล วาจาหรือคำพูดก็เป็นไปตามจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น แต่เวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น จะทำให้พิจารณาเห็นได้ว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็สามารถที่จะเว้นไม่พูดในขณะนั้นได้ โดยนึกถึงคนฟังเป็นสำคัญ ที่มุ่งถึงการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะโดยปกติของทุกคนแล้ว ย่อมชอบคำจริง คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เป็นต้น ไม่ชอบคำเท็จ ไม่ชอบคำหยาบคาย ควรที่จะได้พิจารณาว่า แม้เราก็ไม่ชอบคำที่ไม่น่าฟัง จึงไม่ควรที่จะพูดคำอย่างนั้นๆ ออกไปให้คนอื่นได้ยิน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูด และคนฟัง แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีประโยชน์ จึงไม่ควรพูด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่จะพูดนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะพูด ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การกล่าวธรรม ให้ข้อคิดเตือนใจที่ดีแก่ผู้อื่น เพราะคำพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นคำพูดที่มาจากจิตใจที่ดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ