[คำที่ ๗๑] อโลภ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อโลภ”
คำว่า อโลภ (อ่านว่า อะ - โล - ภะ) เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง แปลว่า ความไม่โลภ ความไม่ติดข้อง อโลภะ ตรงกันข้ามกับโลภะอย่างสิ้นเชิง ดังข้อความบางตอนจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า อโลภะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
การไม่โลภ กิริยาที่ไม่โลภ ความไม่โลภ การไม่กำหนัด กิริยาที่ไม่กำหนัด ความไม่กำหนัด ความไม่เพ่งเล็ง กุศลมูล คือ อโลภะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า อโลภะ มีในสมัยนั้น.
อโลภะ หมายถึง ความไม่โลภ ความไม่ติดข้อง ความไม่ต้องการ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีทุกประเภท กุศลจิตทุกประเภท เกิดขึ้นได้ เพราะมีอโลภะ เป็นเหตุ
ลักษณะของอโลภะ เป็นสภาพธรรมที่ไม่เห็นแก่ตัว ลองพิจารณาดูว่าทุกคนมีความเห็นแก่ตัว เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน ก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเห็นแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันจึงมีความรักตัวเอง และทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ด้วยความเห็นแก่ตัวในขณะใด ในขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด แต่ว่าขณะใดที่อโลภะเกิด ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัวทุกขั้น เพราะฉะนั้นกว่าที่อโลภะซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ละความเห็นแก่ตัว จะเจริญขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้นั้น ก็จะต้องเห็นความเจริญขึ้นของอโลภะเป็นขั้นๆ ดังต่อไปนี้
๑. อโลภะ ในขั้นทาน ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว ที่เห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น มองเห็นบุคคลอื่นที่มีความจำเป็นที่ควรจะได้รับวัตถุปัจจัยเป็นการช่วยเหลือ ก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น กุศลขั้นทาน ก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเป็นสำคัญ
๒. อโลภะในขั้นศีล วิรัติงดเว้นทุจริตเบียดเบียนผู้อื่นทางกาย ทางวาจา ขณะนั้น ก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว คือไม่คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง เนื่องจากว่าในขณะที่วิรัติทุจริตกรรมนั้นก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นก็จะเบียดเบียนผู้นั้นได้ แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียน ด้วยกายบ้าง วาจา บ้าง ในขณะนั้นก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น รวมถึงการกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เพียงแค่งดเว้นจากทุจริต เท่านั้น
๓. อโลภะในขั้นสมถะ คือ ความสงบของจิตจากอกุศล ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง, ขณะใดที่จิตใจเป็นอกุศล ด้วยโลภะหรือโทสะก็ตาม ถ้าระลึกได้ในขณะนั้นก็มีความเมตตา มีความกรุณาเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีความเห็นแก่ตัวว่า ตนเองต้องถูก ตนเองต้องสำคัญ ตนเองต้องยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อโลภะขั้นสมถะ เป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อความสุขของตนเอง เพราะว่า เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วทำให้จิตไม่สงบ
๔. อโลภะ ในขั้นวิปัสสนาภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา) เป็นการละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
ควรที่จะได้พิจารณาเพิ่มเติมว่า แม้แต่การละความเห็นแก่ตัวขั้นทาน และขั้นศีล ซึ่งเป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่นนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นประโยชน์สุขแก่ตนเองด้วย เพราะจิตของตนเองเป็นกุศล สำหรับอโลภะ ที่เป็นกุศลขั้นสมถะและวิปัสสนา เป็นประโยชน์สุขแก่ตนเองอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่มีความเดือดร้อนเพราะอกุศล และเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพื่อดับกิเลสของตนเอง แต่โดยละเอียดแล้วขณะนั้นก็เป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นด้วยเช่นเดียวกัน เป็นเหตุที่จะทำให้บุคคลอื่นไม่เดือดร้อน จากการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดอบรมเจริญความสงบขั้นสมถะ และอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสของตนเอง นอกจากนั้นแล้ว การอบรมเจริญกุศลขั้นวิปัสสนาภาวนาซึ่งจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นสามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนั้น ก็ยังสามารถเกื้อกูลบุคคลอื่นในทางธรรมให้ดำเนินไปในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอโลภะในขั้นใด ก็เป็นกุศลธรรมที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ให้เบาบางลง จนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ