[คำที่ ๗๓] สาระ

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ม.ค. 2556
หมายเลข  32193
อ่าน  407

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  สาร

คำว่า สาร (อ่านว่า สา - ระ) เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มีความหมายหลายอย่างทั้ง แก่น, ประโยชน์, สำคัญ ทั้งหมดล้วนมุ่งหมายถึงสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไป และยังหมายถึงสาระสูงสุด คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นปรมัตถสาระ ด้วย ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สารสูตร แสดงสาระ ไว้ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  สาระ  ๔  นี้  คือ  สีลสาระ ๑  สมาธิสาระ  ๑  ปัญญาสาระ  ๑  วิมุตติสาระ  ๑   นี้แล  สาระ  ๔  ประการ


ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งใดเป็นสาระ และสิ่งใดไม่เป็นสาระ และอาจจะทำให้ตนเองหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ โดยหลงผิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นสาระ ก็ได้ ตามความเป็นจริงแล้ว สาระ หมายถึง สิ่งที่เป็นแก่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่มีค่า สิ่งที่สำคัญ โดยที่ไม่ได้หมายถึงการได้รูป เสียง รส กลิ่น และสิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ดี ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจแล้วก็หลงยึดติดแต่อย่างใด แต่หมายถึงกุศลธรรมตามลำดับขั้น จึงจะเป็นสาระ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกนี้ ประโยชน์สุขในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ   

ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน เป็นสาระ สมาธิ (สัมมาสมาธิ) ความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรมเป็นสาระ ปัญญา สภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกทุกระดับขั้น เป็นสาระ   วิมุตติ (การหลุดพ้นจากกิเลส) เป็นสาระ  เพราะเหตุว่าประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็คือ เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง   

ควรที่จะได้พิจารณาว่า สภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น เป็นเพียงสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตแต่ละประเภท แต่ละขณะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือ สภาพธรรมที่เกิดดับ หาสาระไม่ได้ ไม่มีสาระ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เกิดแล้วดับไป เพราะฉะนั้น สาระจริงๆ อยู่ที่ความเข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรม ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เนื่องจากว่าแต่ละบุคคลได้สะสมกิเลสมามากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งโลภะ โทสะ  โมหะ เป็นต้น การที่จะไปถึงวิมุตติสาระ ซึ่งเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากและไกลมาก กว่าที่ปัญญาจะถึงระดับขั้นดังกล่าวได้นั้น ก็จะต้องค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย  จากการฟัง การศึกษาในชีวิตประจำวัน และประการที่สำคัญ ต้องเป็นปัญญาของตนเองที่รู้จริงๆ ว่า ความเข้าใจในสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น จึงต้องฟัง ต้องศึกษาพระธรรมด้วยความอดทน ด้วยความละเอียด รอบคอบ ต่อไป เพราะบุคคลผู้ที่เข้าใจพระธรรมเท่านั้น จึงจะได้สาระจากพระธรรม และชีวิตก็จะมีสาระมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นไปกับด้วยกุศลธรรม มีความเข้าใจถูกเห็นถูกเพิ่มขึ้น รู้ถึงสิ่งที่ไม่เป็นสาระและเป็นสาระตามความเป็นจริง แล้วงดเว้นสิ่งที่ไม่เป็นสาระคือกุศลทั้งหลาย พร้อมทั้งสะสมสิ่งที่เป็นสาระยิ่งขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาสาระที่สามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถสาระ ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ