[คำที่ ๗๕] บูชา

 
Sudhipong.U
วันที่  31 ม.ค. 2556
หมายเลข  32195
อ่าน  631

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปูชา

คำว่า ปูชา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า ปู - ชา เขียนในภาษาไทยว่า บูชา แปลว่า การบูชา การเคารพการสักการะ ดังข้อความบางตอนจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร ว่า

บทว่า ปูชา ได้แก่ การสักการะ เคารพ นับถือ กราบไหว้” มุ่งหมายถึงการบูชา เคารพสักการะ ในสิ่งที่ควรแก่การบูชา มีพระรัตนตรัย เป็นต้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกี่ยวกับการบูชา ที่ควรศึกษาเพิ่มเติม มีดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้ ๒  อย่างเป็นไฉน? คือ อามิสบูชา (การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ) ๑ ธรรมบูชา (การบูชาด้วยการน้อมประพฤติตามพระธรรม) ๑  ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการบูชา ๒  อย่างนี้ ธรรมบูชาเป็นเลิศ

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย   ทุกนิบาต)

ดูกรอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งประพฤติตามธรรม ผู้นั้น ชื่อว่า สักการะ เคารพนับถือ บูชา ยำเกรง นอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม

(จาก ... ปรมัตถโชติกา  อรรถกถา  ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ  มงคลสูตร)

การบูชา ในสิ่งที่ควรบูชามีพระรัตนตรัย เป็นต้น เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรม ที่มีความเคารพอ่อนน้อม ขจัดซึ่งความหยาบกระด้างแห่งจิต โดยมีกุศลจิต นั่นเอง เป็นเครื่องบูชา เพราะกุศลจิตเกิดขึ้น จึงบูชา จะเอาอกุศลไปบูชาไม่ได้ สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม      ย่อมไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศล  ซึ่งเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ   ไมใช่เพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด

พระธรรมยิ่งฟัง ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเป็นประโยชน์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง โดยเฉพาะในส่วนของกุศลธรรม ก็มีทุกระดับขั้น พร้อมทั้งทรงแสดงอกุศลธรรมโดยนัยที่หลากหลาย ยิ่งทำให้เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ทำให้มีการขัดเกลากิเลส ด้วยกุศล ขณะนั้นก็เริ่มปฏิบัติบูชา แม้ในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา ด้วย ดังนั้น สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นผู้ที่บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมเท่าที่จะเป็นไปได้ตามกำลังสติปัญญาของตน โดยที่ไม่ใช่ตัวตนที่ไปปฏิบัติตาม แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่น้อมปฏิบัติตาม 

สำหรับในเรื่องของการบูชา เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับ ย่อมมีความน้อมไปที่จะบูชาทั้งด้วยวัตถุสิ่งของ มีดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งเป็นอามิสบูชา และด้วยปฏิบัติบูชา (ธรรมบูชา) ปฏิบัติบูชาหรือธรรมบูชา นี้ เป็นการบูชาอย่างสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม    

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน จึงทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลสัตว์โลก เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้ควรแก่การเคารพบูชาอย่างสูงสุด ดังนั้น ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน การเคารพบูชาพระองค์อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่มีทางอื่น  นอกจากการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน จนกว่าความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายจะดับหมดสิ้นไป ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ