[คำที่ ๘๓] รโชหรณ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  28 มี.ค. 2556
หมายเลข  32203
อ่าน  416

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “รโชหรณ”

คำว่า รโชหรณ  เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำ ๒ คำรวมกัน คือ คำว่า รโช (ธุลี,สิ่งสกปรก) รวมกับคำว่า หรณ (เช็ด,ชำระ,นำไป) แปลรวมกันว่า ผ้าสำหรับเช็ด ชำระหรือนำไปซึ่งธุลีอันเป็นสิ่งที่สกปรก แปลโดยใจความได้ว่า “ผ้าเช็ดธุลี” มีความหมายในทางธรรม ดังข้อความจากพระไตรปิฎก ดังนี้

พระสารีบุตร ทราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลีย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยผ้าสำหรับเช็ดธุลี อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่” 

(ข้อความบางตอนจาก ... พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  นวกนิบาต  วุฏฐิสูตร)


ผ้าเช็ดธุลี เป็นผ้าที่สามารถจะรับทุกสิ่งทุกอย่าง เช็ดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เลือด หนอง สิ่งสกปรกต่างๆ ก็สามารถเช็ดได้  ถ้าแต่ละบุคคลเป็นอย่างผ้าเช็ดธุลีได้เสมอๆ ย่อมจะเป็นผู้มีความสบายใจ เป็นอย่างมาก เพราะสามารถที่จะอดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคคลอื่นได้ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ไม่ว่าใครจะประพฤติต่อเรา ด้วยกาย วาจา ใจ อย่างไร ย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อนด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่หวั่นไหวไปเพราะความไม่ดีของผู้อื่นที่เขาสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น

แต่ละบุคคลสามารถจะค่อยๆ ฝึกหัดให้เป็นไปได้ โดยไม่ใช่ตัวตนที่ฝึกหัด แต่คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะการที่จะมีความอดทนต่อถ้อยคำหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมของบุคคลอื่นได้นั้น ก็ต่อเมื่อเริ่มเข้าใจความจริงของชีวิต ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย บุคคลมีอัธยาศัยแตกต่างกันเป็นไปตามการสะสม สำหรับผู้ที่เริ่มเข้าใจความจริงของชีวิต ย่อมจะให้อภัยในความผิดของผู้อื่น ไม่เกิดกุศลจิตเพราะอกุศลของผู้อื่น เห็นประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ คือ มีความอดทนแทนที่จะเป็นอกุศล  

การเปรียบเทียบตนเองว่าเป็นเหมือนผ้าเช็ดธุลีนั้น เป็นคุณธรรมของท่านพระสารีบุตร (พระอัครสาวก ผู้เลิศทางฝ่ายปัญญา) ท่านเป็นผู้ที่นอบน้อมอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยิ่งเป็นผู้มีปัญญามากเท่าใด ความอ่อนน้อมถ่อมตนยิ่งมีมากเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่อวดความรู้ หรือว่าอวดความเก่ง หรือมีกิริยาอาการที่ไม่เหมือนผ้าเช็ดธุลี แต่ว่ายิ่งเป็นผู้ที่มีปัญญาแล้ว ต้องเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ไม่หวั่นไหว รับกระทบได้ทั้งสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด ดังนั้น  จึงกล่าวได้ว่า ถ้าเป็นดุจผ้าเช็ดธุลีได้ ย่อมจะเป็นสุขตั้งแต่นาทีแรกที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามได้จริงๆ โดยมีท่านพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา เป็นแบบอย่างที่ดียิ่งในการเป็นดุจผ้าเช็ดธุลี

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นสิ่งที่อบรมได้ เจริญได้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ อบรมไป เป็นผู้พึ่งพระธรรมด้วยการฟังการศึกษาให้เข้าใจแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม แล้วแต่ว่าสติปัญญากำลังความสามารถของแต่ละบุคคลจะทำให้ประพฤติปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญ คือ มีความตั้งใจมั่นพร้อมทั้งมีความจริงใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เป็นธรรมทางฝ่ายกุศลที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ไม่ใช่เรา.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ