[คำที่ ๘๕] อกุสล - อกุศล
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อกุสล”
คำว่า อกุสล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า อะ - กะ - สะ - ละ เขียนเป็นไทยว่า อกุศล แปลว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล, สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี, ความชั่ว, ธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ ดังข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า “ธรรมที่ชื่อว่า อกุศล เพราะอรรถว่า ไม่ใช่กุศล อธิบายว่า ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล เหมือนกับอมิตรเป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร โลภะเป็นต้นเป็นปฏิปักษ์ต่อ อโลภะเป็นต้น, อกุศล มีโทษและมีทุกข์เป็นวิบาก เป็นลักษณะ อกุศล ศัพท์ บัณฑิตรับรองแล้ว โดยความส่องถึงอรรถว่าเป็นโทษและมีทุกข์เป็นวิบาก”
ตัวอย่างพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของอกุศล จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตต-นิกาย สคาถวรรค ปุริสสูตร ดังนี้ .- พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ดูกร มหาบพิตร ธรรม ๓ อย่าง เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน? ธรรม ๓ อย่าง คือ โลภะ (ความติดข้อง) ๑ โทสะ (ความโกรธ, ความขุ่นเคืองใจ) ๑ โมหะ (ความหลง,ความไม่รู้) ๑”
อกุศล เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี เป็นธรรมฝ่ายดำ ไม่นำประโยชน์อะไรมาให้เลย ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น และอกุศล ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ อกุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ทั้งหมด เป็นอกุศล เนื่องจากแต่ละคนแต่ละท่านได้สะสมอกุศลมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์นับชาติไม่ถ้วน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาโกรธ ไม่สบายใจ ไม่พอใจ ถ้าโกรธมาก ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมโทสะมาแล้ว, เวลาโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ แต่เมื่อได้มาตามที่ต้องการแล้ว ก็ต้องรักษาไว้อย่างดี กลัวสูญหาย ซึ่งเป็นเรื่องหนัก เป็นเรื่องเหนื่อยอย่างยิ่ง
ที่เป็นคนโลภมาก ติดข้องมาก เห็นอะไร ก็อยากได้ไปหมด ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ตลอดจนถึงที่เป็นคนมีโทสะมาก เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจไปทุกเรื่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอกุศล เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นี้คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง และทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล จะมีโมหะ (ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ในชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าต่อไป ก็สะสมเป็นบุคคลอย่างนี้ ทำให้เป็นผู้เต็มไปด้วยอกุศลมากยิ่งขึ้น และถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้นถึงขั้นกระทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนบุคคลอื่น เป็นต้น การกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ นั้น ก็เป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ คือ ภูมิที่ไม่มีความเจริญในธรรม อันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และ สัตว์ดิรัจฉาน ได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอกุศล ทั้งหมด ซึ่งจะต่างกันกับขณะที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้เข้าใจได้ว่า อกุศล ทุกประการ น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดการฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเอง ต่อไป ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะขจัดอกุศลให้ห่างไกลจากจิตได้.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ