[คำที่ ๙๖] อกุศลจิต‏

 
Sudhipong.U
วันที่  27 มิ.ย. 2556
หมายเลข  32216
อ่าน  454

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  อกุสลจิตฺต

คำว่า อกุสลจิตฺต เป็นคำบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ– กุ –สะ- ละ –จิด- ตะ] แปลว่า จิตที่เป็นอกุศล หรือ แปลทับศัพท์ เป็น  อกุศลจิต, จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ  มีความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ความไม่สงบ และความไม่รู้ เป็นต้น เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น จึงทำให้จิตเป็นอกุศล เมื่อมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรมากมาย ซี่งเป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ตามข้อความจาก สัมโมหวิโนทนี  อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก พระวิภังคปกรณ์ ว่า

“บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีชีวิตอยู่ที่ไม่สมควร อันใด คือ ย่อมไม่ปฏิบัติเหลียวแลเลี้ยงดูมารดาหรือบิดาผู้ป่วยไข้ ย่อมทำการทะเลาะกับบิดามารดาเพราะทรัพย์สมบัติ ย่อมทะเลาะกับพี่ชายน้องชายพี่สาวน้องสาวเพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติของมารดาบิดา ย่อมกล่าววาจาหมดยางอาย (หน้าด้าน), ย่อมไม่ทำวัตรที่ควรทำต่ออาจารย์ ต่ออุปัชฌาย์ ไม่อุปัฏฐากภิกษุผู้อาพาธ ย่อมถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ย่อมถ่มน้ำลาย สั่งน้ำมูก ลงในสถานที่เป็นที่เคารพแห่งพระเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ย่อมกั้นร่ม ย่อมเดินใส่รองเท้าเข้าไป ย่อมไม่ละอายในพระสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เคารพยำเกรงในสงฆ์ ย่อมไม่ยังหิริโอตตัปปะให้ตั้งขึ้นในที่อันควรเคารพในบุคคลทั้งหลายมีมารดาและบิดาเป็นต้น การทำอย่างนี้แม้ทั้งปวง ในวัตถุทั้งหลายและในบุคคลมีมารดาเป็นต้น ของบุคคลผู้ประพฤติอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่า ความประพฤติไม่สมควร”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของอกุศล นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงอกุศลของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้อย่างนี้หรือมากยิ่งกว่านี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับอกุศลได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ

ข้อความจากอรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ที่ได้ยกมานั้น ก็เป็นเรื่องที่ทรงโอวาทเพื่อที่จะให้รู้สภาพของอกุศลตามความเป็นจริง เพื่อที่จะให้ระลึกได้ว่า ในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีความประพฤติสมควรหรือไม่สมควรต่อผู้ที่ควรเคารพมีมารดาบิดา เป็นต้น ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ในขณะนั้นว่าเป็นความประพฤติที่ไม่สมควร เพราะถ้าโลภะเกิดหรือถ้าโทสะเกิดแล้วจะให้กายวาจาเป็นกุศล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่าอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ นั้น ก็เพราะว่า ไม่ได้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา จนกระทั่งเมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็จะสามารถละอกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายได้ในที่สุด เพราะอกุศลทั้งหลาย จะหมดไปได้นั้น ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา แต่การละอกุศลจนหมดสิ้นนั้น เป็นเรื่องที่ไกลมาก ก็จะต้องอาศัยการสะสมปัญญาต่อไปอีกเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก และที่ควรพิจารณา คือ เมื่อได้เกิดมาแล้ว  ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก อบรมเจริญกุศลทุกประการเพิ่มขึ้น ก็เป็นชาติที่มีประโยชน์  ในเมื่อกระดูกทุกชิ้นยังรวมกันอยู่  ก็ควรที่จะให้เป็นประโยชน์ในการสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ