[คำที่ ๙๘] จกฺก

 
Sudhipong.U
วันที่  11 ก.ค. 2556
หมายเลข  32218
อ่าน  753

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  จกฺก”

คำว่า จกฺก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า  จัก -  กะ แปลทับศัพท์เป็น จักร มีหลายความหมาย หมายถึง ล้อ หมายถึง อริยสัจจ์ ๔ หมายถึงอิริยาบถ หมายถึง สมบัติ (ความถึงพร้อม) ที่เป็นเหตุทำให้กุศลธรรมเจริญ ในที่นี้จะนำเสนอในความหมายที่เป็นสมบัติ (ความถึงพร้อม) ที่เป็นเหตุทำให้กุศลธรรมเจริญ คือ จักร  ๔  ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จักกสูตร ว่า

จักร ๔  ได้แก่ ปฏิรูปเทสวาสะ (การอยู่ในประเทศอันสมควร) ๑ สัปปุริสูปัสสยะ (การพึ่งพิงสัปบุรุษ) ๑ อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ) ๑ ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แต่ปางก่อน) ๑. 


กุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี ให้ผลเป็นสุข ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ เลย ในชีวิตประจำวัน แม้จะรู้ว่ากุศล ธรรมเป็นธรรมฝ่ายดี ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นก็ตาม แต่ กุศลจิต ก็เกิดขึ้นมากกว่า ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส, ใครๆ ก็อยากจะให้กุศลเกิดมากๆ บ่อยๆ แต่กุศลก็จะต้องมีเหตุที่จะให้เกิดด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุอะไรเลย เพียงแต่อยากจะให้กุศลเกิดแล้วกุศลก็จะเกิดได้ตามความต้องการ ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงเหตุที่จะทำให้กุศลเกิด นั่นก็คือ จักร ๔  ซึ่งเป็นโอกาสในการยังกุศลให้เกิดขึ้น ดังนี้

ข้อที่ ๑ การอยู่ในประเทศอันสมควร คือ อยู่ในประเทศที่มีพุทธบริษัท มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนของพระองค์แล้ว การที่ใครจะมีกุศลเจริญขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ยากที่จะเป็นไปได้ แต่เพราะมีพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง กุศลจึงเจริญขึ้นได้ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้น

ข้อที่ ๒ การพึ่งพิงสัปบุรุษ หมายถึง การฟังธรรมของสัปบุรุษ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ได้รับคำแนะนำที่ดีจากสัปบุรุษ เพราะบุคคลผู้เป็นสัปบุรุษ เป็นผู้ที่มีปัญญา ย่อมแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และให้ออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กล่าวคือ ให้ออกจากกุศล แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศล ก็ย่อมทำให้มีความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม

ข้อที่ ๓ การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเคยเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน ก็ค่อยๆ เป็นผู้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็แสดงว่าเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ เป็นการตั้งตนอยู่ในความดี    โดยที่มิใช่เป็นตัวตนที่จะพยายามที่จะตั้งตน แต่เป็นหน้าที่ของธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจ ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมจนกระทั่งมีความเข้าใจไปตามลำดับ

ข้อที่ ๔ ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แต่ปางก่อน คือ เป็นผู้เคยสะสมบุญไว้ในอดีต

เป็นความจริงที่ว่า วันหนึ่งวันใด บุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อน ย่อมเป็นเสมือนสิ่งที่จะผันให้ผู้นั้นไปสู่การที่จะเจริญกุศลได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ไม่สาธารณะกับทุกคน แล้วแต่ว่าใครเป็นผู้ที่ได้เคยฟังมาบ้างในครั้งก่อนๆ และได้เป็นผู้ที่มีศรัทธามาแล้วในครั้งก่อนๆ ย่อมเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีโอกาสที่จะได้อยู่ในประเทศที่มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้พิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจและได้ตั้งตนไว้ชอบในกุศล ก็เพราะเป็นผู้ที่เคยได้กระทำบุญไว้ก่อนแล้ว นั่นเอง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้กระทำบุญไว้ก่อน ชาตินี้อาจจะผ่านไป โดยที่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมเลย เพราะฉะนั้นแล้ว การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจและได้สะสมความดีในขณะนี้  จึงเป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่ง เพราะชาตินี้ ก็จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมและความดีในชาตินี้ ชาติต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้อีก ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ