[คำที่ ๑o๑] รส

 
Sudhipong.U
วันที่  1 ส.ค. 2556
หมายเลข  32221
อ่าน  600

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "รส"

คำว่า รส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  ระ   -  สะ] นิยมแปลทับศัพท์เป็น รส แปลว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความยินดี ตามข้อความจากอรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ว่า “ชื่อว่า  รส  เพราะอรรถว่า เป็นที่ยินดี  คือ  เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย” สำหรับในครั้งนี้ จะขออธิบายเปรียบเทียบระหว่างรสที่ทำให้ติดข้อง กับ รสของพระธรรม ตามข้อความจาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

“รส มีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้น ทุกชนิด โดยส่วนสูงแม้รสแห่งสุธาโภชน์ (อาหารที่สะอาด) ของเทวดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๔ ประการ (มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น) และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และ พระนิพพาน) นี้แหละประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง


รส หมายถึงสิ่งที่นำมาซึ่งความยินดี จะเห็นได้ว่ารสที่อร่อยต่างๆ มีรสหวาน รสเปรี้ยว เป็นต้น ก็เป็นที่นำมาซึ่งความติดข้องยินดีพอใจสำหรับผู้ที่ติดในรส แต่ตามความเป็นจริงแล้วรสต่างๆ ที่กล่าวมาเหล่านั้น ไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ แต่ทำให้ปุถุชนผู้มากไปด้วยกิเลสที่ติดในรส มีความตกต่ำ ในขณะที่อกุศล คือ ความติดข้องยินดีพอใจ เกิดขึ้น สะสมพอกพูนยิ่งขึ้น ทำให้ต้องท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์ต่อไป หรือนำไปสู่อบายภูมิ อันเนื่องมาจากการกระทำอกุศลกรรม เพราะเหตุแห่งรส    

ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ที่บุคคลมีความติดข้องยินดีพอใจในรสต่างๆ มีรสหวาน รสเปรี้ยว เป็นต้น ก็เพียงชั่วขณะสั้นๆ ที่รสปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นานเลย และเป็นที่ตั้งของความติดข้องยินดีพอใจได้ แต่สำหรับท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญา ท่านย่อมสามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่า รสที่ปรากฏที่ลิ้นชั่วขณะที่ชิวหาวิญญาณ (จิตรู้รส) รู้รสนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้หมดความกระหาย ความเร่าร้อน และความทุกข์ต่างๆ ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงแม้จะลิ้มรสที่ประณีตสักเท่าใดก็ไม่พอแก่ความต้องการ ก็ยังคงปรารถนาที่จะลิ้มรสที่ประณีตนั้นต่อไปอีก ไม่มีวันหมดสิ้น แต่รสแห่งความจริง กล่าวคือ วาจาสัจจะ ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมนำมาซึ่งความปลาบปลื้มอย่างยิ่ง เป็นไปความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา โดยส่วนเดียว สามารถจะทำให้พ้นทุกข์ ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ดังนั้น รสแห่งพระธรรม ที่เป็นวาจาสัจจะ จึงประเสริฐกว่ารสทั้งหลาย เพราะรสต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงรูปธรรมไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่รสของพระธรรม เป็นรสที่ประเสริฐเพราะสามารถนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทำให้ถึงการดับกิเลสได้   

บุคคลผู้ที่เห็นรสพระธรรมว่าเลิศกว่ารสทั้งปวง นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมพิจารณาไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจของตนเอง น้อมประพฤติปฏิบัติตาม และรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงมีประโยชน์มาก ที่จะทำให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ถูกต้องขึ้น รู้ความละเอียดของธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ