[คำที่ ๑o๒] ธมฺมจริยา

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ส.ค. 2556
หมายเลข  32222
อ่าน  1,175

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธมฺมจริยา

คำว่า ธมฺมจริยา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำว่า ๒ คำรวมกัน คือ ธมฺม (มุ่งหมายถึงกุศลธรรม) กับ คำว่า จริยา (การประพฤติ) แปลรวมกันว่า การประพฤติธรรม ได้แก่ ความน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม ในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป การประพฤติธรรม เป็นมงคล เป็นเหตุแห่งความเจริญอย่างแท้จริง ตามข้อความจาก ปรมัตถ-โชติกา  อรรถกถา ขุททกนิกาย  ขุททกปาฐะ  มงคลสูตร ว่า

“การประพฤติกุศลกรรมบถ  ๑๐ ชื่อว่า ธรรมจริยา ก็การประพฤติธรรมนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุเข้าถึงโลกสวรรค์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกร คฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุที่มีการประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ สัตว์บางเหล่าในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  ดังนี้”


สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่น ความดี เป็นความดี จะเปลี่ยนแปลงความดีให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ธรรม มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือนามธรรม (จิต, เจตสิก, พระนิพพาน) และ รูปธรรม สิ่งที่มีจริงเหล่านั้นทรงตรัสรู้โดยบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนแก่พุทธบริษัทเพื่อให้เข้าใจธรรม (สิ่งที่มีจริง) ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีการใช้คำเพื่อสื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าพระองค์ตรัสถึงสิ่งใด เพื่อความเข้าใจของผู้ฟังอย่างถูกต้อง, เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ว่าจะอ่านพบข้อความใดในพระไตรปิฎก ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง  

พระธรรมที่พระผู้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีความละเอียดลึกชึ้งอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง เพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องเตือนเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่มีความประพฤติดีงาม วิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ  ไม่กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ได้แก่  ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม  พูดเท็จ  พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อ  เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และเห็นผิด เป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น นี้เรียกว่า การประพฤติธรรม เป็นความประพฤติที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย โดยไม่ใช่ตัวตนที่ประพฤติ  แต่เป็นกุศลธรรมนั่นเองเกิดขึ้นเป็นไป กุศลธรรม มีหลายขั้น ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต ก็รักษาผู้ประพฤติไม่ให้ตกไปในอบายภูมิ แต่รักษาให้เกิดในสุคติภูมิ และยิ่งถ้าเป็นกุศลธรรมที่เป็นขั้นโลกุตตระ ก็เป็นการรักษาอย่างยิ่ง คือ รักษาให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ

ดังนั้น สภาพธรรมที่ดีงาม ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การมีเมตตา มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนหวังดีต่อผู้อื่น ไม่หวังร้าย พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ทุกเมื่อ ตลอดจนถึงการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็เป็นการประพฤติธรรม ทั้งหมด เป็นไปเป็นเพื่อชำระจิตใจของตนให้สะอาดจากกุศลธรรมอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ