[คำที่ ๑o๓] จิตฺต‏

 
Sudhipong.U
วันที่  15 ส.ค. 2556
หมายเลข  32223
อ่าน  1,304

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ จิตฺต

คำว่า จิตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง  [อ่านตามภาษาบาลีว่า จิด  -  ตะ]  แปลว่า สภาพธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ คือ รู้แจ้งสิ่งที่จิตรู้  นิยมแปลทับศัพท์เป็น  จิต, จิตมีมากมายหลายประเภท แต่เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว มีลักษณะเดียว คือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ตามข้อความบางตอนจาก อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

“ก็เมื่อว่าโดยลักษณะ จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ, จริงอยู่ จิตที่เป็นไปในภูมิ ชื่อว่า ไม่มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ก็หาไม่ เพราะจิตทั้งหมดมีการรู้แจ้งอารมณ์ทั้งนั้น”


ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ  จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์อะไร) เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชาซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานเพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันสองดวงหรือสองขณะได้ หรือไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ตามความเป็นไปของจิต ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะของชีวิตคือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต นั่นเอง    

จิต เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ชั่วขณะสั้นๆ นั้น มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด ต้องมีอารมณ์ คือ สี  ซึ่งเกิดก่อนแล้ว และมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น, จิตเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครบังคับหรือทำให้เกิดขึ้นได้เลย

ถ้าจะกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว จิตขณะนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ถ้าไม่มีเหตุที่ทำให้มีการเกิดในภพนี้ชาตินี้ นั่นก็คือ ตัณหาซึ่งเปรียบเสมือนมารดาผู้ยังสัตว์ให้เกิดในภพภูมิต่างๆ พร้อมกันนั้น ต้นตอของสังสารวัฏฏ์จริงๆ ก็คือ อวิชชา (ความไม่รู้) เพราะมีการเกิดในภพนี้ชาตินี้ จึงมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต ซึ่งก็หมายรวมถึงเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ด้วย นอกจากนั้น สภาพธรรมยังมีรูปธรรมอีกด้วย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จิตแต่ละขณะมีอายุที่สั้นแสนสั้น เพียงแค่ ๓ อนุขณะ (ขณะย่อย) เท่านั้น คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ดำรงอยู่ และขณะที่ดับไป เมื่อได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต บ้าง เจตสิก บ้าง รูป บ้าง ก็เป็นไปเพื่อควมเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ไม่มีเรา  มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป และจะเป็นไปเพื่อละคลายความติดข้อง ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง

 จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว มีลักษณะเดียว คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ที่กล่าวว่า เป็นจิตที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี นั้น เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เช่น  ถ้าโลภะ เกิดกับจิต  จิตนั้นก็ไม่ดี เพราะมีอกุศลเจตสิก คือ โลภะ ความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีเจตสิกฝ่ายดี  คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ  อโลภะ อโทสะ หรือแม้กระทั่ง อโมหะ คือ ปัญญา เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น ก็เป็นจิตที่ดี เป็นกุศลจิต ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั้น เป็นการพักจากกุศลชั่วขณะที่จิตเป็นกุศล   

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ขณะนี้ทุกๆ วันกำลังดำเนินไปใกล้ซึ่งความตายเข้าไปทุกทีๆ  ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะถึงวันนั้นเมื่อใด เมื่อถึงวันนั้นจริงๆ ก็จักทอดทิ้งร่างกายนี้ไว้บนแผ่นดิน สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ความผูกพันกับบุคคลต่างๆ เป็นต้น แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ คือ  กุศลและกุศล ไม่สูญหายไปไหน เป็นสภาพธรรมที่จะติดตามไปในภพต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าเป็นขณะที่สำคัญ เป็นขณะที่ประเสริฐ แล้ว ก็ต้องเป็นขณะที่เป็นกุศลเท่านั้น  

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่า การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ก็ควรที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ให้มากที่สุด ด้วยการสะสมกุศล ขวนขวายในความดีทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน อย่าคิดว่าอีกนาน เพราะอาจจะไม่นานเลย อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ