[คำที่ ๑๐๖] ปริหานิ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ก.ย. 2556
หมายเลข  32226
อ่าน  496

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปริหานิ

คำว่า ปริหานิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ -  ริ  - หา  - นิ] แปลว่า ความเสื่อม, ความหมดสิ้นไป มุ่งหมายถึงทั้งความเสื่อมในภายนอกที่เห็นๆ กันอยู่ และความเสื่อมจากกุศลธรรม ตามข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  เอกนิบาต ว่า 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติ มีประมาณน้อย ความเสื่อมโภคทรัพย์ มีประมาณน้อย ความเสื่อมยศ มีประมาณน้อย ความเสื่อมจากปัญญา ชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย


ในบรรดาความเสื่อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมยศ นั้น ความเสื่อมจากปัญญาชั่วร้ายที่สุด  ตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้  เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า ถ้าเสื่อมจากปัญญาแล้ว ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นเหตุทำให้การประพฤติปฏิบัติผิดไปด้วย บุคคลบางคนอาจจะไม่เห็นโทษเห็นภัย ไม่เห็นอันตรายของความเสื่อมจากปัญญาเลย เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ความเสื่อมญาติก็ดี  ความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ก็ดี ความเสื่อมแห่งยศ ก็ดี เป็นแต่เพียงความเสื่อมในชาตินี้ที่เห็นๆ กันอยู่เท่านั้น แต่การเสื่อมจากปัญญา จะทำให้เกิดในอบายภูมิ อันจะเป็นเหตุตัดรอนไม่ให้ปัญญาเจริญขึ้น-จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เมื่อว่าโดยขณะจิตแล้ว ขณะที่เสื่อมจริงๆ ก็คือ ขณะที่เป็นอกุศล ทำให้เสื่อมจากกุศล  เสื่อมจากความเข้าใจถูกเห็นถูก ยิ่งถ้าเดินไปในทางที่ผิด ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกนำมาซึ่งทุกข์โทษภัยมากมายทีเดียวอันเนื่องมาจากความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ในทางกลับกัน ถ้ากล่าวถึงความเจริญแล้ว ความเจริญด้วยปัญญา ย่อมประเสริฐที่สุด เลิศที่สุด ถ้าไม่ได้พิจารณาไม่ได้ไตร่ตรอง ก็อาจจะเข้าใจว่าความเจริญด้วยญาติ  กล่าวคือ มีญาติมาก ย่อมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลมาก สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลได้ในยามจำเป็น แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่ประเสริฐเลย เพราะญาติทั้งหลาย ไม่สามารถติดตามไปเกื้อกูลในชาติต่อไปได้ แต่ปัญญาที่มี ที่อบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง

สำหรับเรื่องทรัพย์สมบัติ ถ้ามีแล้ว หากเสื่อมไป หมดไป สำหรับผู้ไม่มีปัญญาย่อมเดือดร้อนวุ่นวายมาก แต่ตราบใดที่ยังเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา ย่อมประเสริฐกว่าการมีทรัพย์สมบัติแต่ขาดปัญญาหรือเสื่อมจากปัญญา เพราะเหตุว่าการจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โภคสมบัติ ก็จะต้องเป็นผลมาจากเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว และการที่จะเสื่อมจากลาภ ยศ เป็นต้น ก็ต้องเป็นผลมาจากเหตุที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตจริงๆ คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ด้วยเวลาเท่าที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้ จึงควรเป็นไปเพื่อการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมปัญญา และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ต่อไป ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเจริญอย่างแท้จริง เพราะขณะที่ความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะที่ความดีเกิดขึ้น ไม่เสื่อมอย่างแน่นอน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ