[คำที่ ๑o๘] ติรัจฺฉานกถา
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ติรจฺฉานกถา”
คำว่า ติรจฺฉานกถา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า ติ - รัด - ฉา - นะ - กะ - ถา มาจากคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า ติรจฺฉาน (เป็นไปทางขวาง) กับคำว่า กถา (ถ้อยคำ,คำพูด) แปลรวมกันได้ว่า ถ้อยคำหรือคำพูดที่เป็นไปทางขวาง ได้แก่ ขวางทางสวรรค์และนิพพาน นิยมแปลทับศัพท์เป็น ดิรัจฉานกถา หรือบางครั้งเขียนเป็น เดรัจฉานกถา ก็ได้ มุ่งหมายถึงขณะที่พูดเรื่องราวต่างๆ เช่น เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เป็นต้น ด้วยจิตเป็นอกุศล ขณะที่จิตเป็นอกุศลเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ทางนำไปสู่การเกิดในสวรรค์และไม่ใช่ทางที่จะทำให้ถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะเป็นอกุศล ตามข้อความจาก อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมวัตถุกถา-สูตร ว่า
“บทว่า ติรจฺฉานกถํ ได้แก่ เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเตือนพุทธบริษัทในเรื่องการพูดไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพบปะกัน ควรจะพูดในเรื่องใด ไม่ควรพูดในเรื่องใด กล่าวคือ หากเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่เพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ไม่ได้ทำให้กุศลเจริญขึ้น คำพูดในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นดิรัจฉานกถา เป็นถ้อยคำที่เป็นไปทางขวาง คือ ขวางทางสวรรค์ และนิพพาน เพราะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุทำให้ออกไปจากทุกข์ เป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์เลย จึงไม่ควรพูด พระองค์ทรงแสดงโทษของดิรัจฉานกถาเหล่านั้นไว้ ว่า ทำให้อกุศลเกิดมากขึ้น พร้อมทั้งทรงแสดงเรื่องที่ควรพูด ควรสนทนากันไว้ด้วย คือ เรื่องที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เรื่องการอบรมปัญญาเพื่อรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง ซึ่งไม่พ้นไปจากเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้
จะเป็นดิรัจฉานกถาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ เมื่อพบปะกัน มีการถามถึงสาระทุกข์ความเป็นไปของผู้อื่น ก็สามารถพูดได้ ด้วยกุศลจิต ด้วยความเป็นมิตรเป็นเพื่อน ครูอาจารย์สอนศิลปวิทยาแก่ลูกศิษย์ด้วยความปรารถนาดีให้มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น อย่างนี้ ก็ไม่ใช่ดิรัจฉานกถา และแม้จะพูดเรื่องราวของบุคคลอื่น เช่น เรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น แต่พูดด้วยจิตที่มุ่งถึงความเป็นจริงของธรรม ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ว่า แม้จะเป็นพระราชา ครองราชสมบัติ ในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไป สำหรับที่มีการเรียกว่าเป็นโจร ก็คือ อกุศลธรรมที่มีกำลังเกิดขึ้น ทำให้กระทำอกุศลกรรม เป็นการสร้างเหตุที่ไม่ดี เมื่อเหตุที่ไม่ดีมีแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า และในที่สุดโจรก็จะต้องละจากโลกนี้ไปเหมือนกัน สามารถพูดให้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรม ในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมได้ คำพูดในลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่ดิรัจฉานกถา เพราะเจตนากล่าวเป็นกุศล ด้วยจิตที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมโดยปรารภเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยที่จิตขณะนั้นเป็นไปกับความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะถ้าหากจิตเป็นกุศลแล้ว เรื่องที่พูดจะไม่เป็นดิรัจฉานกถาเลย จึงสำคัญอยู่ที่สภาพจิตจริง ๆ
และเป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ความประพฤติเป็นไปทางวาจาก็ย่อมเป็นไปกับกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นธรรมดา แต่สำหรับบุคคลผู้เห็นโทษของอกุศลธรรม เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลทุกประการ ย่อมหลีกเลี่ยงวาจาหรือคำพูดใดๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ อันหาสาระแก่นสารไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้อกุศลธรรมเพิ่มมากขึ้นทำให้กุศลธรรมเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด พระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการเกื้อกุลที่ดีอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ