[คำที่ ๑๐๙] วิปาก

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ก.ย. 2556
หมายเลข  32229
อ่าน  750

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  วิปาก

คำว่า วิปาก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ  -  ปา  - กะ เขียนเป็นไทยได้ว่า วิบาก แปลว่า นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม, วิบากทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อว่าโดยสภาพธรรม ก็ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยซึ่งเป็นชาติวิบาก ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

“ชื่อว่า วิบาก เพราะอรรถว่า เป็นผลของกุศลกรรม และเป็นผลของอกุศลกรรมทั้งหลาย ซึ่งพิเศษกว่ากันและกัน คำว่า วิบาก นี้  เป็นชื่อของอรูปธรรมทั้งหลาย (นามธรรม) ที่ถึงความเป็นวิบาก”


วิบาก เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นอกุศลวิบาก วิบากทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นไป  ต้องมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว  ซึ่งไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตประจำวันเลย มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบทางกาย  ตลอดจนถึงแม้ในขณะที่นอนหลับสนิท ทั้งหมดคือวิบากในชีวิตประจำวันซึ่งได้รับอยู่เสมอๆ

กรรมมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม, กุศลกรรม ดับไปแล้ว ก็สามารถเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมเกิดได้ และอกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมเกิดได้ ดังนั้น กุศลวิบากและอกุศลวิบากในชีวิตประจำวัน ก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วจะตรงกันข้ามเลย คือ ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้ แต่เป็นเพราะอดีตกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลเช่นนั้นจึงเกิดขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า ชีวิตของคนเรานั้นมี ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนหนึ่งเป็นการรับผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นการสะสมเหตุใหม่ คือ กรรม     

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อได้รับวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ทั้งที่ดี และ ไม่ดี แล้ว จิตขณะต่อไปเป็นอย่างไร จะสร้างเหตุใหม่ในทางที่ดีหรือไม่ดี? บางคนได้รับผลกรรมที่ไม่ดี  ก็ทำดี บางคนก็ทำชั่ว บางคนได้รับผลของกรรมที่ดี  กลับทำชั่ว บางคนก็ทำดี เป็นไปตามการสะสมจริงๆ คนที่สะสมในทางที่ดี มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อได้รับวิบากที่ดีหรือไม่ดี ก็ไม่ทำชั่ว มีแต่จะสะสมความดียิ่งขึ้น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ส่วนบุคคลที่สะสมมาในทางไม่ดี ก็ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะได้รับวิบากอย่างไร ก็ทำชั่ว ไม่เห็นคุณค่าของความดี ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยอย่างแท้จริง

สิ่งที่จะเป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีที่สุด ก็คือ พระธรรม การมีโอกาสได้คบสัปบุรุษซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญา พร้อมกับได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน นั้น ไม่ไร้ผลอย่างแน่นอน เป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เป็นขณะที่หาได้ยาก ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น และจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย อันเป็นการสะสมเหตุใหม่ที่ดีให้กับตนเอง เป็นที่พึ่งให้กับตนเอง ต่อไป เพราะสิ่งที่สัตว์โลกจะพึ่งได้จริงๆ คือ กุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Thanapolb
วันที่ 25 มี.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กระผมเคยอ่าน วิบาก..อีกความหมายที่ท่านกล่าวไว้ว่า วิบาก คือ สิ่งที่สุกแล้วอย่างไม่มีเหลือ..

อรรถะนี้จะสัมพันธ์หรือสอดคล้องกับ ผลของกรรมที่เป็นเฉพาะนามธรรม (จิตและเจสิก) ไม่รวมรูปธรรม อย่างไรครับ?

คือ รูปไม่ใช่สิ่งที่สุกแล้วอย่างมีมีเหลือ อย่างนั้นไหมครับ?

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ