[คำที่ ๑๑o] เจตนา

 
Sudhipong.U
วันที่  3 ต.ค. 2556
หมายเลข  32230
อ่าน  685

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ เจตนา

คำว่า เจตนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า เจ - ตะ - นา ในภาษาไทย อ่านได้ ๒ อย่าง คือ เจ - ตะ - นา และ เจด - ตะ - นา แปลว่า ความจงใจ ความตั้งใจ ซึ่งเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรม-สังคณีปกรณ์ ว่า

“ธรรมที่ชื่อว่า เจตนา  เพราะอรรถว่า ตั้งใจ อธิบายว่า ย่อมยังสัมปยุตตธรรม (ธรรมที่ประกอบพร้อม) กับตน ให้เป็นไปในอารมณ์”


การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้ว เจตนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ไม่มียกเว้น ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล  ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิต ก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็เป็นกิริยา ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ จงใจขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย กัมมปัจจัย จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย กับ นานักขณิกกัมมปัจจัย

สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เป็นผลของปัจจัย) คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆที่ทำให้เกิดรูปได้

นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิก เกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่   เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา นี้คือ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม

สำหรับเจตนาที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก กับ ชาติกิริยา แม้จะเป็นกรรม แต่ก็ไม่ใช่กรรมที่จะให้ผลในภายหน้า เพราะชาติวิบาก เป็นการรับผลของกรรม ส่วนชาติกิริยาเป็นเพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้เลย  

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตนาเกิดร่วมกับจิตทุกครั้ง แต่จะบอกว่าทำกรรมอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะการกระทำกรรม ต้องมุ่งหมายถึงขณะที่เป็นกุศล กับ ขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ดี เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นเจตนาที่ไม่ดี เช่น ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นอกุศล ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  และเมื่อเหตุมีแล้ว  ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผลในภายหน้าได้  กล่าวคือ  กุศลกรรม ให้ผลเป็นสุข     ทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลกรรม แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย

ส่วนใหญ่มักจะได้ยินคำว่า ไม่ได้เจตนา ถ้าได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจแล้ว จะเข้าใจว่า เจตนามี ไม่เคยขาด แต่สำคัญอยู่ที่ว่าเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตอะไร การเผลอไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่เจตนา  เช่น มีการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไปโดยไม่ได้เจตนา นั้น แสดงว่า ขณะนั้น ก็มีเจตนา ไม่ปราศจากเจตนา แต่ไม่ได้มีเจตนาในการฆ่า จึงไม่เป็นอกุศลกรรม เพราะการที่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมในข้อที่เป็นการฆ่าสัตว์ ได้ องค์ประกอบประการหนึ่ง คือ  มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งเป็นอกุศลจิตที่เกิดพร้อมกับเจตนาที่เป็นไปในการฆ่า ดังนั้น เมื่อไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า ก็ไม่เป็นอกุศลกรรม เช่น เวลาเราเดินทางไปตามถนนหนทาง บางครั้งเหยียบมดบ้าง เหยียบแมลงบ้าง  โดยที่เราไม่รู้เลย ไม่มีเจตนาฆ่าเลย เพราะมีเพียงเจตนาที่จะเดิน เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า หรือ แม้กระทั่งบางครั้งปิดประตูหน้าต่าง แต่ปรากฏว่าหนีบจิ้งจกตาย โดยไม่รู้ ไม่มีเจตนาฆ่าเลย ก็ไม่เป็นปาณาติบาต บาปย่อมไม่มี เพราะไม่ได้มีเจตนาที่เป็นไปในการฆ่า นั่นเอง ในอีกส่วนหนึ่ง ถ้าได้กระทำกรรมจริงๆ เช่น ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ว่าร้ายผู้อื่น เป็นต้น แต่มาบอกว่า ไม่ได้เจตนา อย่างนี้ ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะการกระทำดังกล่าวแสดงถึงอกุศลเจตนาอย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามคำพูด ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว เจตนาที่เป็นประโยชน์ มีคุณ ก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นไปกับกุศล เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุศลเจตนาในการที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ส่วน อกุศลเจตนานั้น  ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษโดยส่วนเดียว และโทษนั้นก็เกิดกับตนเองเท่านั้น ถ้าเป็นอกุศลเจตนาที่เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็จะเบียดเบียนตนเองในขณะที่ผลที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น ตรงกับข้อความที่ว่า เจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะเบียดเบียนตนเอง ซึ่งจะประมาทอกุศลไม่ได้เลยทีเดียว.     


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ