[คำที่ ๑๑๒] เตช‏

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ต.ค. 2556
หมายเลข  32232
อ่าน  1,495

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  เตช”

 คำว่า เตช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า เต - ชะ  [ในคำไทย ก็จะเป็น  เดช  บ้าง  เดชะ บ้าง] แปลว่า เผา,เผาผลาญ ได้แก่ เผาซึ่งธรรมที่ตรงกันข้ามกับตน มีอรรถที่ลึกซึ้งมาก ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว เดช มี ๒ ฝ่ายใหญ่ๆ ทั้งดี และไม่ดี ถ้าเป็นเดชฝ่ายดี ก็เผาหรือทำลายไม่ให้เดชฝ่ายไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไป ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นเดชฝ่ายที่ไม่ได้ ก็เผาคือไม่ทำให้เดชฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ว่า

“คำว่า เตโช (เดช) ความว่า เดชมี  ๕  คือ จรณเดช  คุณเดช ปัญญาเดช ปุญญเดช ธรรมเดช, บุคคลผู้มีจิตอันกล้าแข็ง ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ทุศีลให้สิ้นไป ด้วยเดชคือศีลเครื่องดำเนินไป, ย่อมยังเดชมิใช่คุณให้สิ้นไป ด้วยเดชคือคุณ, ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ไม่มีปัญญาให้สิ้นไป ด้วยเดชคือปัญญา, ย่อมยังเดชมิใช่บุญ ให้สิ้นไปด้วยเดชคือบุญ,  ย่อมยังเดชมิใช่ธรรมให้สิ้นไป ด้วยเดชอันเป็นธรรม.


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงแสดงพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้โปรดสัตว์โลก ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ทรงพร่ำสอนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่า ความเข้าใจธรรม เข้าใจในสิ่งที่มีจริงนั้น เป็นประโยชน์มาก เกื้อกูลได้ในทุกระดับขั้น พระบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมา ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้มีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด พระธรรมจะไม่มีวันสูญหายไปจากใจของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาและมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง และในยุคนี้สมัยนี้ เป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษา เพราะยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ก็จะต้องศึกษา เพื่อจะได้รู้ ได้สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมในส่วนใด บทใด ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แม้แต่คำว่า เดช ก็เช่นเดียวกัน

คำว่า เดช เป็นสภาพธรรมที่เผา ได้แก่ เผาสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับตนเอง มี ๕ ประการ ได้แก่

จรณเดช (เดช คือ ความประพฤติที่ดีงาม อันได้แก่  ศีล) มุ่งหมายถึง ความประพฤติที่ดีงามทางกาย วาจา ในขณะนั้นย่อมละความเป็นผู้ที่มีกายวาจาเป็นไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ให้สิ้นไป เป็นการเผา ด้วยเดชคือศีลที่เป็นจรณะคือความประพฤติที่ดีงาม

คุณเดช (เดช คือ  ธรรมที่เป็นคุณความดี) มุ่งหมายถึงความสงบจากอกุศล ในขณะที่คุณความดีเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะนั้นธรรมที่เป็นคุณ คือ ความดี ก็ย่อมละหรือย่อมเผาซึ่งความไม่ดี ที่ไม่ใช่คุณให้สิ้นไป เป็นการกำจัดความไม่สงบแห่งจิต จนถึงฌานจิต ที่เผาอกุศลธรรมที่กลุ้มรุมจิตไม่ให้เกิดขึ้นในขณะนั้น

ปัญญาเดช (เดช คือ ปัญญา) ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกที่มีกำลัง ย่อมเผากิเลสทั้งหลาย มี อวิชชา ความไม่รู้ และความเห็นผิด เป็นต้น ให้หมดสิ้นไป ปัญญา จึงเป็นเดชที่เผา หรือละซึ่งกิเลสทั้งหลาย

ปุญญเดช (เดช คือ บุญ) คือ สภาพธรรมที่เป็นบุญเครื่องชำระจิตให้สะอาด เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเผาอกุศลธรรม เผาสภาพธรรมที่ป็นบาปไม่ให้เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ก็ต้องเริ่มตั้งแต่เบื้องต้นที่เป็นบุญในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน กำจัดความตระหนี่ เป็นต้น จนถึงสูงสุดที่เป็นอริยมรรค กล่าวคือ  มรรคจิต เกิดขึ้นทำกิจประหาร(ดับ)ซึ่งกิเลสทั้งหลาย ซึ่งเป็นบุญสูงสุดที่สามารถ เผาหรือละซึ่งกิเลสทั้งหลายได้จนหมดสิ้น

 ธรรมเดช (เดช คือ ธรรม) มุ่งหมายถึง พระพุทธพจน์ทั้งหมดซึ่งเป็นวาจสัจจะ เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด  ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์ที่เป็นคำสอนของลัทธิอื่น ประกอบไปด้วยความเห็นประการต่างๆ มากมาย นั้น ไม่ใช่ธรรมเดชเลย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  จึงเป็นเครื่องเผาหรือทำลายซึ่งคำสอนที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และเพราะอาศัยธรรมเดช จึงทำให้เผาในสิ่งที่ไม่ดีได้ทั้งหมด ดังนั้น ธรรมเดช จึงเป็นหลัก เป็นรากฐานที่สำคัญของเดช ๔ ประการข้างต้น

จากความเข้าใจในเบื้องต้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นฝ่ายธรรมที่ไม่ดี ก็ทำให้สิ่งที่ไม่ดี ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เกิดขึ้นเป็นไป นี้คือ เดช หรือ กำลังของธรรมที่ไม่ดี แต่ถ้าเป็นธรรมที่ดี ก็จะตรงกันข้ามเลย ไม่สามารถที่จะไปทำให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เดชของทั้งสองอย่าง จึงต่างกัน เดชของธรรมฝ่ายดีก็ต้องทำให้สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์เท่านั้นเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย แต่เป็นธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม     

ในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ธรรมที่เป็นอกุศลมีมาก เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เดชหรือกำลังของอกุศลจึงมีมาก เกิดขึ้นเป็นไปมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้  ซึ่งสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ มีเดชที่ทำให้ไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แล้วธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล จะหมดไปได้อย่างไร?  อกุศลก็ยังคงเป็นอกุศล อกุศลจะเป็นกุศลไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีปัญญาที่เห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จึงสามารถที่จะเข้าใจถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ปะปนกัน ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมได้ แม้ว่าอกุศลมีจริง เกิดขึ้นเป็นไปมาก แต่ก็ยังสามารถที่จะดับหมดสิ้นไปได้ ด้วยกำลังของสภาพธรรมที่เป็นกุศล โดยมีเหตุที่สำคัญ คือ จะต้องไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นธรรมเดช ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ