[คำที่ ๑๑๓] อาสว‏

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ต.ค. 2556
หมายเลข  32233
อ่าน  943

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  อาสว”

คำว่า อาสว เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า อา - สะ - วะ เขียนเป็นไทยได้ว่า อาสวะ แปลว่า กิเลสที่หมักดองหมักหมมมานาน เป็นกิเลสที่เกิดขึ้น   แสดงถึงลักษณะของกิเลสที่สะสมมานาน เหมือนการหมักดองไว้นานมาก จึงทำให้มีการเกิดขึ้นของกิเลสที่เป็นอาสวะซึ่งเป็นกิเลสที่ไหลไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ และไหลไปได้ทุกภพภูมิ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ดับอาสวะ ก็ยังไม่พ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะผู้ที่จะสิ้นอาสวะ คือ พระอรหันต์เท่านั้น ชื่อหนึ่งของพระอรหันต์ คือ พระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะแล้ว) ตามข้อความจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายสูตร ว่า

บทว่า ขีณาสโว  มีวินิจฉัยว่า อาสวะมี ๔  คือ กามาสวะ (อาสวะ คือ ความติดข้องในกาม) ภวาสวะ (อาสวะ คือ ความติดข้องในภพ) ทิฏฐาสวะ (อาสวะ คือ ความเห็นผิด) อวิชชาสวะ (อาสวะ คือ ความไม่รู้) อาสวะทั้ง ๔ เหล่านี้ของพระอรหันต์สิ้นแล้ว คือ ท่านละได้ ถอนขึ้นได้ สงบระงับ เป็นของไม่ควรเกิดขึ้นอีก อันท่านเผาแล้วด้วยไฟคือญาณ ด้วยเหตุนั้น พระอรหันต์ นั้น ท่านจึงเรียกว่า พระขีณาสพ.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง สำหรับในเรื่องของกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงจำแนกไว้หลายหมวด เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจ และเห็นโทษของกุศลธรรม ตามความเป็นจริง หนึ่งในนั้น คือ หมวดของอาสวะ  ๔ ประการ   

อาสวะ เป็นกุศลธรรมที่บางเบาไหลไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย อาสวะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งก็มีจริงในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ไม่รู้เลยว่าติดข้องแล้วในขณะนั้น หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น นี้คือ ลักษณะของอาสวะที่  ๑  คือ  กามาสวะ

อาสวะที่ ๒ คือ ภวาสวะ ความติดข้องยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมีความเป็น พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่มีความติดข้องในภพ แม้พระอนาคามียังมีความติดข้องในขันธ์ที่ท่านเกิด ในความมีความเป็นของท่านที่เกิดขึ้นมา ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็เป็นทิฏฐาสวะ  ซึ่งเป็นอาสวะที่ ๓ และที่ร้ายไปกว่านั้น เป็นไปด้วยความไม่รู้ เป็นอาสวะ ที่ ๔ คือ อวิชชาสวะ  

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แต่เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมที่ควรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเป็นสิ่งจะต้องละได้ด้วยปัญญา

บุคคลที่จะละอาสวะได้ทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ก็จะต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์เป็นผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว ชื่อหนึ่งของพระอรหันต์ คือ พระขีณาสพ หมายถึง ผู้มีอาสวะสิ้นไปแล้ว หรือ ผู้สิ้นอาสวะ นั่นเอง แต่กว่าจะไปถึงการเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องมีการดับอาสวะเป็นขั้นๆ กล่าวคือ ทิฏฐาสวะ พระโสดาบัน ดับได้, ความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นกามาสวะ พระอนาคามี ดับได้, ส่วน ภวาสวะ กับ อวิชชาสวะ พระอรหันต์ ดับได้ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว พระอรหันต์เป็นผู้ดับอาสวะทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด

แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องยากจริงๆ กว่าจะดับกุศลธรรมเหล่านี้ได้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมปัญญาไป ชีวิตไม่มีอะไรเป็นพึ่งอย่างแท้จริงได้ นอกจากปัญญา เท่านั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากการฟังพระธรรม     แล้วจะฟังพระธรรมจากใคร? คำตอบ คือ จะต้องเข้าไปอาศัยบุคคลผู้ที่มีปัญญา เมื่อคบหากับบุคคลผู้มีปัญญาแล้ว ก็จะได้มีโอกาสฟังความจริง ฟังพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อมีการฟังเกิดขึ้น ก็มีการใส่ใจ มีการพิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งจะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โดยเป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ไม่ใช่มีตัวตนที่ไปปฏิบัติหรือไปทำ ซึ่งจะต้องเกื้อกูลกันตั้งแต่ต้น  

กว่าจะถึงการสิ้นอาสวะ ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านดับอาสวะได้หมดสิ้น เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นแล้วว่า การอบรมเจริญปัญญาไม่ไร้ผลอย่างแน่นอน 

เพราะฉะนั้น ในฐานะที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่มากมาย ก็จะต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เป็นผู้มากไปด้วยกิเลส มากไปด้วยความไม่รู้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้สะสมสิ่งที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้ นั่นก็คือ สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นั่นเอง. 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ